Ads block

Banner 728x90px

การชี้แจงสอบละเมิด


สอบละเมิด คืออะไร

“การชี้แจงสอบละเมิดมีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ชี้แจงจะเสี่ยงกว่า” วลีเด็ดที่มักทิ้งท้ายหลังให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการ “สอบละเมิด” เพื่อให้ผู้ถูกสอบละเมิด ได้ตระหนักว่าการชี้แจงสอบละเมิดมีความเสี่ยง แต่ถ้าไม่ชี้แจง หรือชี้แจงไม่ถูกจุด ไม่เข้าหลักเกณฑ์การสอบละเมิดจะเสี่ยงกว่า ซึ่งความเสี่ยงในที่นี้ หมายถึงความเสี่ยงที่ผู้ถูกสอบละเมิดจะต้องชดใช้เงินให้แก่ทางหน่วยงาน

“สอบละเมิด” คือการสอบหาความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โดยกระบวนการ “สอบละเมิด” จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นกับหน่วยงาน และมีเหตุอันควรเชื่อว่าความเสียหายนั้น เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิด 

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่, ตัวอย่าง สอบละเมิด

10 วิธีชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา "สอบละเมิด"

ส่วนใหญ่ผู้ถูกกล่าวหาในการ”สอบละเมิด”มักกังวลว่าจะตั้งรูปเรื่องการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างไร จะต่อสู้ หรือวางแนวทางคดีอย่างไร เพื่อให้เกิดผลดีหรือมีการปรับลดสัดส่วนความรับผิดแก่ของฝ่ายตนอย่างสูงสุด เพราะหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบละเมิดมิได้กำหนดรูปแบบและวิธีการชี้แจงข้อกล่าวหาให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิดได้ถือปฏิบัติ  
 
ดังนั้น ในการสอบละเมิด หากได้ผู้สอบสวนที่เป็นกลางและยินดีรวบรวมข้อเท็จจริงทั้งเรื่องความประมาทของผู้ถูกสอบละเมิด และเรื่องความบกพร่องของหน่วยงานหรือระบบงาน เพื่อการพิจารณาปรับลดค่าเสียหายแก่ผู้ถูกสอบละเมิดในอนาคต ย่อมจะเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย 

แต่หากการสอบละเมิดนั้น เกิดการหลงลืมข้อเท็จจริงเรื่องความบกพร่องของหน่วยงาน หรือระบบงาน หรือเกรงว่าจะเป็นการหยิกเล็บเจ็บเนื้อ กลัวจะมีผลกระทบไปยังบุคคลอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือคำสั่งสอบละเมิด เหตุเหล่านี้ย่อมไม่เป็นธรรมกับผู้ถูกสอบละเมิด เพราะอาจไม่ได้รับการพิจารณาปรับลดความเสียหายตามสัดส่วนที่ทางราชการกำหนด 

หากเกิดเรื่องทำนองนี้ท่านสามารถช่วยเหลือตนเองได้ โดยการเขียนคำชี้แจงฯ แสดงถึงข้อบกพร่องของหน่วยงานหรือระบบงาน และสายการบังคับบัญชา ที่มีส่วนร่วมในความประมาทนั้น ให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพื่อให้ผู้สอบสวน หัวหน้าหน่วยงาน และองค์คณะผู้พิจารณา ได้ทราบถึงความบกพร่องดังกล่าว  



ดังนั้น เพื่อให้ผู้ถูกสอบละเมิดได้ทราบถึงหลักพื้นฐานของการเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาทางละเมิด ที่ครบถ้วนและเป็นธรรมสำหรับผู้ถูกสอบละเมิด  วินัย.com จึงได้นำหัวใจของกฎหมายละเมิด มาดัดแปลงเป็นวิธีการเขียนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพื่อให้ผู้ถูกสอบละเมิดทุกท่าน ได้ศึกษาและใช้เป็นขอบเขตในการคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาทางละเมิด ดังนี้
  1. เตรียมความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามระเบียบ กฎหมาย หรือหนังสือสั่งการที่ถูกกล่าวหาว่าท่านกระทำละเมิดต่อหน้าที่ เพื่อเป็นพื้นฐานในการเขียนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตัวอย่างเช่น ความรู้ตามระเบียบพัสดุเมื่อเกิดการละเมิดในกระบวนจัดซื้อจัดจ้าง การประมาณราคากลาง หรือการตรวจรับ เป็นต้น
  2. วิเคราะห์บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา ว่าใน “ข้อกล่าวหา” มีข้อมูลอันเป็น “ข้อเท็จจริง” “ข้อกฎหมาย” และ “พยานหลักฐาน” ตามการกล่าวหาอย่างไร (รายละเอียดการวิเคราะห์ข้อกล่าวหา คลิกเมนู “การชี้แจงข้อกล่าวหา” )จากนั้น ให้ผู้ถูกสอบละเมิดจัดเตรียมเอกสารพยานหลักฐานตามรูปเรื่องที่ถูกกล่าวหา และหากเป็นไปได้ควรเตรียมพยานหลักฐานตามแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบสวนข้อเท็จจริงทางละเมิดตามที่กรมบัญชีกลาง หรือที่หน่วยงานของท่านกำหนด ในแต่ละกรณี เช่น กรณีทุจริตทางการเงินหรือทรัพย์สิน กรณีคนร้ายกระทำโจรกรรม กรณียานพาหนะเกิดอุบัติเหตุสูญหาย กรณีอาคารสถานที่ถูกเพลิงไหม้ หรือกรณีภัยธรรมชาติ เป็นต้น ถึงแม้แนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการเก็บข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่กรรมการสอบสวนจะต้องรวบรวมในการสอบละเมิดก็ตาม แต่การที่ท่านจัดเตรียมพยานหลักฐานต่างๆบนพื้นฐานเดียวกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ย่อมจะทำให้ท่านมองเห็นรูปคดีได้ใกล้เคียงกับคณะกรรมการสอบสวนฯ ในทำนอง “รู้เขา รู้เรา” ครับ
  3. ก่อนเขียนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งมีที่มาจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการในเรื่องใดๆ ก็ตาม ให้ท่านตรวจสอบก่อนว่าท่านมีหน้าที่ราชการ หรือได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ถูกสอบละเมิดหรือไม่ หากท่านไม่มีหน้าที่ราชการหรือไม่ได้รับการแต่งตั้งในเรื่องที่ถูกสอบละเมิด ให้ท่านเขียนคำโต้แย้งว่าท่านไม่มีหน้าที่ราชการในเหตุละเมิดดังกล่าว ไว้เป็นลำดับแรกของการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเสมอ
  4. สำหรับวิธีการเขียนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ในการสอบละเมิด (อย่างง่าย) ก็คือ การชี้แจงแบบตัดองค์ประกอบความผิดตามข้อกฎหมาย ซึ่งในที่นี้คือฐานความผิดเรื่องละเมิด ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่บัญญติว่า " ผู้ใด จงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี .. ทรัพย์สินก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"  ทั้งนี้ ตัวหนังสือสีแดง  สีน้ำเงิน  และสีเขียว  ที่แสดงไว้ข้างต้นคือองค์ประกอบความผิดทางกฎหมายทั้งสามประการของ “วงจรละเมิด” ซึ่งเปรียบเสมือนวงจรระเบิด ถ้าต่อติดกันครบทั้ง 3 สี เมื่อไหร่ ก็เกิดระเบิด เตรียมจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ทางหน่วยงานทันที ดังนั้น ในการเขียนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแบบตัดองค์ประกอบความผิดทางละเมิด (อย่างง่าย !) ที่ท่านสามารถฝึกทำได้ด้วยตนเอง คือการนำองค์ประกอบความผิดทั้งสามสีข้างต้น มาดัดแปลงเป็นกรอบการเขียนคำปฎิเสธในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตัวอย่างเช่น การชี้แจง กรณีรถยนต์ของทางราชการถูกโจรกรรม ขณะผู้ถูกสอบละเมิดอยู่เวรรักษาการณ์ ซึ่งการเขียนคำชี้แจงฯ ในเรื่องนี้ สามารถดัดแปลงตามองค์ประกอบความผิดทั้ง 3 สีข้างต้นได้ ดังนี้ ข้าฯ ขอเรียนว่า ข้าฯ มิได้กระทำความประมาทเลินเล่อในการอยู่เวรรักษาการณ์สถานที่ราชการ ตามคำสั่งหน่วยงาน ..... ที่ ..... ลงวันที่ .....  โดยในการปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์เมื่อวันที่ .... ข้าฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามข้อกำหนดและเงื่อนไข ที่หน่วยงานได้กำหนดไว้ท้ายคำสั่งดังกล่าวอย่างครบถ้วน มิได้กระทำการใดๆ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดและเงื่อนไขท้ายคำสั่งแต่อย่างใด อีกทั้ง เรื่องความเสียหายจากเหตุรถยนต์ของทางราชการถูกโจรกรรมนั้น เกิดจากการกระทำของบุคคลที่สามซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โดยมีสาเหตุจากการจอดรถยนต์ของทางราชการไว้ริมทางสาธารณะนอกรั้วหน่วยงาน  ดังนั้น  พฤติกรรมในการปฏิบัติหน้าที่อยู่เวรรักษาการณ์ของข้าฯ จึงมิได้มีความประมาทเลินเล่อในการดูแลรักษาทรัพย์ของทางราชการ ข้าฯ จึงมิต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการแต่อย่างใด  
  5. หากท่านสามารถชี้แจงฯ กระทั่ง รับฟังได้ว่าตนเองมิได้กระทำผิดตามองค์ประกอบความผิดข้อใดข้อหนึ่งในสามข้อข้างต้น ย่อมส่งผลให้วงจรละเมิดหยุดทำงาน เนื่องจากไม่ครบองค์ประกอบความผิด ไม่เกิดระเบิดและไม่ต้องจ่าย ทั้งนี้ สำหรับท่านที่เป็นผู้ถูกกล่าวหามือใหม่ ควรทำการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาให้ครบทั้งสามองค์ประกอบความผิด อย่าฟันธง! เลือกชี้แจงฯเพียงองค์ประกอบความผิดใดองค์ประกอบความผิดหนึ่ง หรือข้ามการชี้แจงแบบเก็บแต้มตามวงจรละเมิดที่หนึ่ง ไปชี้แจงในวงจรละเมิดที่สองเลย เพราะมันอาจเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงเกินไปสำหรับท่านมือใหม่ อนึ่ง หากท่านยังไม่สามารถชี้แจงเพื่อตัดองค์ประกอบความผิดข้อใดข้อหนึ่งในวงจรละเมิดที่หนึ่งนี้ได้ ก็ยังไม่ต้องจ่ายครับ แต่ต้องไปเหนื่อยกับการหาเหตุผลมาเขียนคำชี้แจงฯเพื่อตัด “วงจรละเมิดที่สอง” ซึ่งเปรียบเสมือนวงจรหน่วงเวลาการเกิดระเบิดในวงจรละเมิดที่หนึ่ง
  6. “วงจรละเมิดที่สอง” มีส่วนคล้ายกับวงจรละเมิดที่หนึ่ง ซึ่งเป็นบทพื้นฐานในเรื่องความรับผิดจากความประมาทเลินเล่อ เพียงแต่ “วงจรละเมิดที่สอง” จะเพิ่มองค์ประกอบความผิดเรื่องความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เข้าไป 
  7. ดังนั้น การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในวงจรละเมิดที่สอง จึงเป็นการชี้แจงเพื่อตัดองค์ประกอบความผิด ในส่วนที่ว่า “การกระทำของผู้ถูกสอบละเมิด เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ ” ซึ่งถือเป็นการชี้แจงฯ โดยการวิเคราะห์ให้เหตุผลเปรียบเทียบระหว่างขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ กับวิสัยและพฤติการณ์ของผู้ถูกสอบละเมิด ว่าผู้ถูกสอบละเมิดได้ปฏิบัติหน้าที่โดยขาดความระมัดระวัง และมีความเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานเพียงใด โดยการเขียนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในส่วนนี้ หากมีเนื้อหาไม่มากนักท่านอาจเขียนรวมไว้ท้ายข้อ 4 เลยก็ได้
  8. หากมีเนื้อหาคำชี้แจงมาก เพราะต้องการโต้แย้งและต่อสู้ว่าความประมาทที่ท่านทำเป็นเพียงความประมาทเลินเล่ออย่างธรรมดา มิใช่ความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือต้องการต่อสู้ว่าการละเลยขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่เพียงเล็กน้อยนั้น ไม่มีส่วนสัมพันธ์ หรือก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นคดีที่ต้องอาศัยการอธิบายทางเทคนิค ตัวอย่างเช่น ต่อสู้เรื่องความด้อยประสิทธิภาพของเครื่องมือตรวจวัดต่างๆในขณะเกิดเหตุ หรือเป็นการชำรุดของท่อระบายน้ำที่เกิดขึ้นใต้ผิวดิน เจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิดไม่อาจตรวจพบได้ เป็นต้น 
  9. เนื่องจากการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจะเป็นการพิจารณาตามดุลยพินิจ และตรรกะความคิดที่หลากหลายขององค์คณะผู้มีอำนาจพิจารณา ดังนั้น ในการชี้แจงเรื่องความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามวงจรละเมิดที่สองนี้ จึงควรยึดหลัก “ปลอดภัยไว้ก่อน” คือไม่ว่าจะท่านจะชี้แจงเพื่อตัดองค์ประกอบความผิดในส่วนนี้ได้หรือไม่ก็ตาม ควรเผื่อเหลือ เผื่อขาดด้วยการชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องเหตุลดหย่อนต่างๆ หรือเขียนถึงความบกพร่องหรือความประมาทร่วมของหน่วยงานหรือระบบงานและสายการบังคับบัญชา ที่มีส่วนทำให้เกิดการความเสียหายนั้น เพื่อประกอบการพิจารณาปรับลดค่าเสียหายจากองค์คณะผู้มีอำนาจพิจารณาด้วย
  10. ในการเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายทางละเมิดนั้น กฎหมายกำหนดให้หน่วยงานคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำ และหลักความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย ดังนั้น ผู้ถูกสอบละเมิด อย่าลืมเขียนคำชี้แจงในเรื่องวิสัยและพฤติการณ์ ทั้งที่เป็นเหตุส่วนตัวและเหตุทางราชการอื่นๆ รวมเข้าไปเพื่อประกอบการพิจารณาปรับลดสัดส่วนความรับผิดด้วย ตัวอย่างเช่น การเพิ่งบรรจุเข้ารับราชการ การถูกเปลี่ยนสายงาน หรือการได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานสองหน้าที่ในเวลาเดียวกัน เป็นต้น

tips:การชี้แจงสอบละเมิด

การชี้แจงสอบละเมิด หรือ “ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่” ส่วนใหญ่จะเป็นการโต้แย้งและการให้เหตุผลเปรียบเทียบระหว่าง หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมาย กับวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิดในขณะเกิดเหตุ หากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา มีเหตุผลที่เพียงพอ และมีน้ำหนักที่จะยกขึ้นอ้างในการแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกสอบละเมิดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดทางละเมิดได้โดยง่าย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในหลักกฎหมาย และการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกสอบละเมิดจะนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ข้อควรระวังในการชี้แจงสอบละเมิด คือความรอบคอบในการจัดทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจากการสอบละเมิด จะมีสภาพบังคับเรื่องค่าสินไหมทดแทน จึงอาจทำให้ผู้ถูกสอบละเมิดบางท่าน มองว่าเป็นเพียงเรื่องทางแพ่ง จึงขาดความรอบคอบในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีความรับผิดอย่างอื่นติดตามมา ดังนั้น ในการชี้แจงสอบละเมิดที่รอบคอบนั้น นอกจากผู้ถูกสอบละเมิด จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระเบียบกฏหมายที่ถูกกล่าวหาว่าทำละเมิดแล้ว ท่านควรจะต้องมีความรู้เสริม ทั้งทางด้านวินัย และอาญา เพื่อป้องกันข้อเสียเปรียบทางคดี  หากจะมีการนำสำนวนการสอบละเมิด ไปใช้ประกอบการสอบสวนในคดีความรับผิดด้านอื่นๆ

สิ่งสำคัญอีกอย่างสำหรับการชี้แจงสอบละเมิดก็คือ ท่านควรตรวจสอบลักษณะงานของตนเองก่อนว่า ท่านมีหน้าที่ราชการ หรือได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ถูกกล่าวหาอย่างไร และหน้าที่นั้นมีขอบเขตหรือขั้นตอนในการปฏิบัติงานอย่างไร มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของงานจากจุดใดถึงจุดใด เพราะข้อกล่าวหาบางเรื่อง อาจมีข้อต่อสู้เรื่องขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นข้อได้เปรียบทางคดีแฝงอยู่ หากท่านวิเคราะห์เนื้องานพบ และนำมาโต้แย้งว่าความเสียหายนั้น ยังมิได้เข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติงานของท่าน ก็จะมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยไม่ต้องกังวลกับการหาเหตุผลมาร้อยเรียงว่าการกระทำของท่านไม่ถึงขั้น “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” เพราะเมื่อใดที่ท่านต้องเขียนคำชี้แจงฯ ยืดยาวไปถึงขนาดนั้น ก็ถือว่าเข้าสู่สภาวะเสี่ยงของเงินในกระเป๋าแล้ว มิฉะนั้น คงจะไม่มีผู้กล่าวให้เราได้ยินกันบ่อยๆ ดอกครับว่า “ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้”