Ads block

Banner 728x90px

คำฟ้องศาลปกครอง


คำฟ้องศาลปกครอง คืออะไร

      คำฟ้องศาลปกครอง คือ การเสนอข้อหาต่อศาลปกครอง โดยการทำเป็นคำฟ้องฯ หรือคำร้องฯ ในขณะที่เริ่มต้นฟ้องคดี ก่อนที่เว็บวินัย จะพาผู้ฟ้องคดีไปยังเรื่องวิธีการเขียนคำฟ้องศาลปกครอง และเรื่องขั้นตอนการฟ้องศาลปกครอง เว็บขอเรียนว่า 

       ตามคำกล่าวที่คุ้นหูว่า “ศาลคือที่พึ่งสุดท้าย” นั้น คำดังกล่าว นอกจากจะมีความหมายตรงตัวว่า ศาล คือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนแล้ว  คำดังกล่าวยังอาจแฝงความหมายอีกนัยว่า การต่อสู้คดีเพื่อเพิกถอนคำสั่งลงโทษของทุกท่านได้เดินทางมาถึงเวทีสุดท้ายแล้วเช่นกัน

        ในคดีอาญา ที่ใช้ระบบกล่าวหา โจทก์มีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด หากโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ ศาลก็จะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ และปล่อยตัวจำเลยพ้นจากข้อกล่าวหาไป

        สำหรับคดีปกครอง แม้ศาลจะใช้ระบบไต่สวน และมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงได้เอง แต่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเปรียบเสมือนโจทก์ในคดีอาญา ควรช่วยตนเอง และช่วยแบ่งเบาภาระศาล ด้วยการรับภาระพิสูจน์ในคดี พร้อมทั้ง ทำการออกแบบคำฟ้องฯ และเขียนบรรยายคำฟ้องศาลปกครอง โดยแสดงถึงข้อพิสูจน์ต่างๆ เพื่อให้ศาลเห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ออก ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นการลงโทษที่ไม่เหมาะสม หนักเกินไปไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด เพราะถ้าผู้ฟ้องคดีพิสูจน์ต่อศาลไม่ได้ ศาลฯ ก็อาจพิพากษายกคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ซึ่งมีผลให้คำสั่งลงโทษนั้น มีผลบังคับใช้ตามเดิม



คำนำ : เรื่องการเขียนคำฟ้องศาลปกครอง

        แรกที่เดียว... การเขียนคำฟ้องศาลปกครอง ประเภทคดีวินัยข้าราชการ สำหรับผู้ฟ้องคดีที่ไม่มีทักษะและประสบการณ์ มักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยาก ถึง โค.ตะ.ระ. ยากส์ เพราะจะแหวกหา ช่องทางต่อสู้จากคำสั่งลงโทษก็แทบมองไม่เห็น ครั้นจะหันไปหาช่องทางต่อสู้จากรายงานสอบสวน/ไต่สวน ไม่ว่าจะเป็นการสอบแบบตรงไปตรงมา หรือการสอบแบบโกงไปโกงมา ประเภท ปะผุ..ตัดแปะ พ่นสีเรื่องราว ให้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่ว่าจะสอบสวนแบบไหน ผู้ฟ้องคดีก็ล้วนแต่กระอักเลือด ตกเป็นมวยรองบ่อน  ตามทฤษฎี “ประวัติศาสตร์ มักถูกเขียนโดยผู้ชนะ” โดยปริยาย 

        ไอ้หวังตายแน่.. ตายแน่ไอ้หวัง เสียงเพลงของคุณอาศรเพชรฯ แว่วเข้ามาในหัว ด้วยเพราะเนื้อผ้าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน ไม่ว่าจะตีลังกาอ่านท่าไหนก็ล้วนแต่บ่งชี้ว่าผู้ฟ้องคดีเป็น "ผู้กระทำผิด" ทั้งสิ้น  

        แต่ทว่า ช้าก่อนคับ ไอ้หวัง ยังอาจมีความหวัง  ถ้าไอ้หวัง ได้วางแผนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และวางแผนปูพยานหลักฐานที่ดีและเป็นคุณกับไอ้หวัง มาตั้งแต่ชั้นสอบสวน/ไต่สวน 

        อีกทั้ง หนทางชนะในคดีปกครอง ก็มิได้จำกัดอยู่ที่การเอาชนะเนื้อผ้า หรือพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนเพียงอย่างเดียว ผู้ฟ้องคดีสามารถแตกประเด็นการต่อสู้ไล่ดะ..  ได้ตั้งแต่เรื่องอำนาจการแต่งตั้งกรรมการสอบสวน เรื่องขั้นตอนการสอบสวน และเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งเรื่องการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด ยาวไปจนถึงเรื่องการพิจารณาทางปกครองที่ไม่เป็นกลาง  ตบท้ายด้วยเรื่องอายุความสำหรับผู้เกษียณ ฉะนั้น ท่านที่ถูกประหารจากชีวิตราชการ ด้วยการลงโทษไล่ออก ปลดออก ท่านสามารถดับเครื่องชนได้ทุกประเด็น เพียงแต่ท่านต้องมีความละเอียดถี่ถ้วน  หรือมีที่ปรึกษากฎหมาย ที่มีทักษะและประสบการณ์ ช่วยคิดวิเคราะห์สำนวนสอบสวน “ทำสิ่งที่คิดว่าตายแล้ว ให้ดิ้นได้”  เพื่อนำมาตั้งเป็นประเด็นต่อสู้คดี

วิธีการเขียนคำฟ้องศาลปกครอง

        "คำฟ้องศาลปกครอง" จะมีวิธีการเขียนตามโครงสร้างคำฟ้องฯ 5 ส่วน ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542  ซึ่งประกอบด้วย

1. ชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี โดยการเขียนคำฟ้องศาลปกครองในส่วนนี้ ให้ผู้ฟ้องคดีระบุชื่อและที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี รวมทั้ง หมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ไว้ในคำฟ้อง เผื่อกรณีเจ้าหน้าที่ศาลฯ โทรตาม เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเซ็นรับรองสำเนาไม่ครบทุกแผ่น หรือไปรษณีย์ส่งคำสั่งศาลให้ผู้ฟ้องคดีตามที่อยู่ที่แจ้งไว้ไม่ได้

2. ชื่อหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี สำหรับการเขียนคำฟ้องศาลปกครอง ในข้อนี้ คือการเขียนระบุชื่อตำแหน่งของผู้สั่งลงโทษ โดยกำหนดให้เป็น “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1” พร้อมเขียนระบุชื่อ องค์กรพิจารณาอุทธรณ์ โดยกำหนดให้เป็น “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2”  ตัวอย่างเช่น กรณีข้าราชการพลเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มักจะเป็น “อธิบดีกรม XX ” และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็จะเป็น  “ก.พ.ค.”  ส่วนกรณีตำรวจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก็มักจะเป็น  “ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด XX ” ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ก็มักจะเป็น “ก.ตร.” เป็นต้น 

3. การกระทำที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี  สำหรับการเขียนคำฟ้องศาลปกครองข้อนี้ คือ การเขียนบรรยายคำฟ้องถึงการกระทำที่ไม่ถูกต้องของผู้ถูกฟ้องคดี(ผู้สั่งลงโทษ)และผู้ร้องสอด (ผู้ไต่สวน) เพื่อให้ศาลเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดี ต้องตระหนักว่าการฟ้องคดีปกครองให้ประสบความสำเร็จ มันมิใช่เรื่องง่าย เนื่องจากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ที่ปรากฏตามรายงานการสอบสวน/ไต่สวน ที่ศาลฯ มักจะใช้เป็นหลักในการแสวงหาความจริง มันก็มีความสมบูรณ์ของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในระดับหนึ่งแล้ว ทางหน่วยงานจึงนำไปใช้เป็นเหตุผลในการสั่งลงโทษแก่ท่านได้ ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของการเขียนคำฟ้องคดีปกครองก็คือ

1.การเขียนข้อพิสูจน์ และแสดงพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลเห็นว่า ผลการสอบสวนตามรายงานสอบสวน/ไต่สวน ซึ่งเป็นที่มาของการออกคำสั่งลงโทษ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ

2.การเขียนข้อพิสูจน์ และแสดงพยานหลักฐานเพื่อให้ศาลเห็นว่า การสั่งลงโทษไล่ออก เป็นการสั่งลงโทษที่หนักเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด หรือ

3.หากท่านไม่สามารถเขียนแสดงข้อพิสูจน์ว่าคำสั่งลงโทษไม่ถูกต้องได้ อย่างน้อยก็ควรพยายามเขียนคำฟ้อง โดยการสร้างประเด็นโต้แย้งต่างๆ เพื่อให้ศาลฯ อ่านแล้ว รู้สึกสะกิดใจและควรสงสัยว่าผลการสอบสวนตามรายงานสอบสวน/ไต่สวนฉบับนั้น น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อที่ศาลจักได้แสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวต่อไป ตัวอย่างเช่น การเขียนบรรยายฟ้องในประเด็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานสอบสวนไม่อาจรับฟังเป็นที่ยุติว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิด จากการลงนามตรวจรับท่อระบายน้ำไม่มี มอก. เนื่องจากผู้สอบสวนขุดดินตรวจหาเครื่องหมาย มอก.จากท่อระบายน้ำเฉพาะด้านบน โดยไม่ขุดตรวจรอบท่อทั้ง 360 องศา ทั้งที่ ฝ่ายผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานและผู้ตรวจรับงานจ้าง ก็แก้ข้อกล่าวหาโดยยืนยันว่าท่อระบายน้ำมี มอก.ถูกต้อง ดังนั้น ข้อเท็จจริงเรื่องท่อระบายน้ำมีเครื่องหมาย มอก.หรือไม่  จึงยังไม่ยุติ  ฉะนั้น การสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จากผลการสอบสวนที่ยังไม่เป็นที่ยุติ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. หากท่านไม่สามารถเขียนได้ทั้งข้อพิสูจน์และข้อสะกิดใจที่น่าสงสัยก็อย่าท้อครับ ให้พยายามเขียนเล่าข้อเท็จจริงต่างๆ ในแง่มุมของท่านตามโครงสร้างคำฟ้องฯ ทั้ง 5 ส่วนนี้ กราบเรียนต่อศาล เพื่อที่ศาลจักได้นำไปแสวงหาความจริงต่อไป

ทั้งนี้ ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะลงมือเขียนคำฟ้องศาลปกครอง ขอให้ท่านทำการศึกษาวางรูปคดี โดยนำรายงานสอบสวนมาวิเคราะห์หาพยานหลักฐานที่ใช้ในการเชื่อมโยงความผิด จุดอ่อนหรือข้อบกพร่องต่างๆ ในกระบวนการสอบสวน/ไต่สวน ซึ่งอาจมีได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย

เมื่อท่านค้นพบจุดอ่อนและข้อบกพร่องทางคดีแล้ว ให้นำมาตั้งเป็นประเด็นต่อสู้คดี จากนั้นให้เขียนบรรยายคำฟ้อง พร้อมทั้งเขียนถึงข้อพิสูจน์ต่างๆ เพื่อให้ศาลฯ ได้เห็นว่าคำสั่งลงโทษไล่ออกนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรม  


4. คำขอของผู้ฟ้องคดี สำหรับผู้ฟ้องคดีที่เป็นข้าราชการหรือลูกจ้างประจำ ซึ่งส่วนใหญ่หน่วยงานได้ออก กฎ ระเบียบ และวิธีการเยียวยา ในกรณีการกลับเข้ารับราชการตามคำสั่งศาลฯ ไว้แล้ว ท่านจึงอาจเขียนคำขอท้ายคำฟ้องฯ ในหลักการใหญ่ๆ  ดังนี้

(1) ขอให้เพิกถอนตามคำสั่งกรม ....XX.....  ที่ ...../25...  ลงวันที่ ............. ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(2) ขอให้เพิกถอนผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการ XX ที่................... ลงวันที่ .................. ซึ่งสั่งยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(3) ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1  ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในฐานะเดิมและตำแหน่งหน้าที่เดิม รวมทั้ง ให้ทำการคืนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในตำแหน่งหน้าที่ราชการให้แก่ผู้ฟ้องคดี ดั่งเดิมทุกประการ  ( ส่วนผู้ที่รับบำนาญ ก็ใช้ข้อความว่า ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการให้ผู้ฟ้องคดีได้รับเงินบำนาญ และเงินอื่นๆ ที่ผู้ฟ้องคดี พึงมีสิทธิ์ได้รับดั่งเดิม ) 

ทั้งนี้  หากผู้ฟ้องคดีท่านใด อยากเขียนคำขอเพิ่มเติมในเรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในอำนาจศาลฯ ก็สามารถเขียนคำขอเพิ่มเติมได้ครับ

ส่วนผู้ฟ้องคดีที่เป็นพนักงานราชการ หรือพนักงานจ้างตามภารกิจ ซึ่งถูกไล่ออกนั้น   นอกจากจะต้องเขียนคำขอท้ายฟ้องตามหลักใหญ่ๆ ทั้งสามข้อข้างต้นแล้ว  ท่านควรเขียนคำขอท้ายฟ้องเพิ่มเติม โดยการขอเรียกค่าเสียหายจากการถูกให้ออกจากงาน เพราะคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยทุกครั้ง เนื่องจากหากท่านชนะคดี ในช่วงเวลาที่หมดสัญญาจ้างแล้ว ศาลอาจจะไม่สามารถออกคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้สั่งลงโทษ) รับท่านกลับเข้าไปทำงานได้อีก (หมายเหตุ การเรียกค่าเสียหายของพนักงานราชการ มีรายละเอียดปลีกย่อยและวิธีปฏิบัติหลังส่งคำฟ้อง ท่านสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่เว็บวินัย) 

5. ลายมือชื่อของผู้ฟ้องคดี  

 หมายเหตุ การฟ้องคดีปกครองนั้น นอกจากผู้ฟ้องคดีจะต้องจัดเตรียมพยานหลักฐานประกอบคำฟ้องฯ ให้ครบถ้วนตามข้อพิสูจน์หรือข้ออ้างต่างๆ แล้ว ท่านควรจัดเตรียมพยานหลักฐานที่แสดงถึงความเดือดร้อนจากการถูกไล่ออก หรือ ปลดออก เพื่อนำไปประกอบการเขียนคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งไล่ออก เพื่อเสนอต่อศาลให้พิจารณาเรื่องการสั่งคุ้มครองให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าไปปฏิบัติงานในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว  โดยท่านอาจยื่นคำร้องขอทุเลาฯ ควบคู่ไปกับการยื่นคำฟ้องศาลปกครองก็ได้ครับ 


ขั้นตอนการฟ้องศาลปกครอง

    ในการฟ้องคดีปกครองนั้น นอกจากผู้ฟ้องคดีจะต้องทราบวิธีการเขียนคำฟ้องศาลปกครองแล้ว เรื่องขั้นตอนการฟ้องศาลปกครอง ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ และมักจะมีการสอบถามควบคู่กับคำถามสุดฮิตที่ว่าฟ้องศาลปกครองนานไหมเสมอ ดังนั้น เพื่อไขข้อสงสัยเรื่องขั้นตอนการฟ้องศาลปกครอง เว็บวินัยฯ จะขอกล่าวถึงขั้นตอนการฟ้องศาลปกครองที่สำคัญ พร้อมแสดงภาพถ่ายตัวอย่างคำสั่งศาลในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มฟ้องคดี จนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ให้ผู้ฟ้องคดีได้มองเห็นภาพขั้นตอนการฟ้องศาลปกครอง จากประสบการณ์ของเว็บวินัย  ดังนี้

        ขั้นตอนที่ 1 การยื่นเอกสารคำฟ้องศาลปกครอง  ให้ผู้ฟ้องคดีนำคำฟ้องศาลปกครอง ซึ่งประกอบด้วยคำฟ้องศาลปกครอง  (ต้นฉบับ) และเอกสารท้ายคำฟ้อง จำนวน ๑ ชุด  พร้อมสำเนาคำฟ้องฯ  ตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ท่านระบุในคำฟ้องฯ ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาลฯ โดยขั้นตอนแรกนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ศาลช่วยตรวจคำฟ้องฯ เบื้องต้น  พร้อมทำการออกใบรับคำฟ้อง ให้ผู้ฟ้องคดีเก็บไว้เป็นหลักฐาน คลิก ดูภาพ “ตัวอย่าง ใบรับคำฟ้องศาลปกครอง 
        ทั้งนี้ ในวันที่ยื่นคำฟ้องศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ และเอกสารที่แสดงถึงความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดี จำนวน ๑ ชุด  พร้อมทั้ง สำเนาคำร้องฯ ตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ท่านระบุในคำฟ้องฯ ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาลพร้อมกับการยื่นคำฟ้องฯ หรือท่านจะยื่นในช่วงเวลาใดๆ  ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลได้พิจารณาคำร้องฯ และมีคำสั่งใดๆ อันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ตัวอย่างเช่น คำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งไล่ออก เพื่อคุ้มครองให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าไปปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราว คลิก ดูภาพ “ตัวอย่าง การลงรับคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ”  


      อนึ่ง หลังจากผู้ฟ้องคดี ยื่นคำฟ้องศาลปกครอง และคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ ได้ประมาณ 1-2 เดือน ทางศาลที่รับคำฟ้องฯ จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งศาลอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังนี้

         (1) ตัวอย่างคำสั่งศาล หลังยื่นคำฟ้องฯ 

         คำสั่งศาล กรณีสั่งรับคำฟ้องฯ ไว้พิจารณา  (คลิก ดูตัวอย่าง)

         คำสั่งศาล กรณีสั่งไม่รับคำฟ้องฯ ไว้พิจารณา (คลิก ดูตัวอย่าง)

         (2) ตัวอย่างคำสั่งศาล หลังยื่นคำขอทุเลาฯ 

     - คำสั่งศาล กรณีสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ (คลิก ดูตัวอย่าง)

     - คำสั่งศาล กรณีสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ (คลิก ดูตัวอย่าง)

     ขั้นตอนที่ 2 การทำคำให้การ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1(4) บัญญัติว่า "คำให้การ" คือ กระบวนพิจารณาใดๆ  ซึ่งคู่ความฝ่ายหนึ่ง ยกข้อต่อสู้เป็นข้อแก้คำฟ้อง  โดยหน้าที่เขียนคำให้การ คดีปกครองในขั้นตอนนี้  จะเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้สั่งลงโทษ , ผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ หรือ ป.ป.ช. /ป.ป.ท.ในฐานะผู้ร้องสอด (แล้วแต่กรณี) จัดส่งข้อมูลให้อัยการเพื่อทำคำให้การส่งต่อศาล เพื่อโต้แย้งคำฟ้องฯ ของผู้ฟ้องคดี  ซึ่งตัวอย่าง คำให้การ ศาลปกครอง ที่ผู้ฟ้องคดีจะพบในขั้นตอนที่ 2 นี้ แบ่งได้เป็น 2 กรณีคือ

    (1) กรณีหน่วยงานต้นสังกัดสอบวินัยเอง  ส่วนใหญ่ ตัวอย่าง คำให้การ ศาลปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีนี้ จะอยู่ในลักษณะที่ว่าหากผู้ฟ้องคดีต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกลงโทษ ทางหน่วยงานก็อาจคัดลอกข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในรายงานสอบสวนมาทำเป็นคำให้การเพื่อโต้แย้งคำฟ้องฯ ของผู้ฟ้องคดี 

    แต่ถ้าผู้ฟ้องคดีตั้งประเด็นต่อสู้ว่าการแต่งตั้งกรรมการมิชอบฯ หรือมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบและวิธีการสอบสวน ตัวอย่าง คำให้การเพื่อโต้แย้งคำฟ้องฯ ในประเด็นนี้ มักจะอยู่ในลักษณะการอ้างกฎระเบียบ พร้อมยืนยันว่าการกระทำของคณะกรรมการสอบสวนชอบด้วยระเบียบกฎหมาย หรือเป็นข้อผิดหลงเล็กน้อย ไม่เสียความเป็นธรรม เป็นต้น จากนั้น จะมีการระบุคำขอไว้ตอนท้ายของคำให้การว่า  “คำสั่งกรม....XX.... ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอศาลฯ โปรดพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดี”

    (2) กรณีหน่วยงานต้นสังกัดสั่งลงโทษตามการชี้มูลความผิด  ส่วนใหญ่ ตัวอย่าง คำให้การ ศาลปกครองของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีนี้ จะอยู่ในลักษณะที่ว่าหากผู้ฟ้องคดีโต้แย้งว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกลงโทษ บางหน่วยงานก็อาจตอบว่าเป็นการลงโทษตามการชี้มูลความผิด  หน่วยงานรับผลมาดำเนินการเท่านั้น โดยไม่อธิบายเหตุผลใดๆ  หรือบางหน่วยงานก็อาจคัดลอกข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามรายงานไต่สวนฯ  มาเขียนเป็นคำให้การ เพื่อโต้แย้งคำฟ้องฯ ของผู้ฟ้องคดี  

    แต่ถ้าผู้ฟ้องคดีต่อสู้ว่ามีการแต่งตั้งกรรมการไต่สวนมิชอบฯ หรือมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบและวิธีการสอบสวน ตัวอย่าง คำให้การเพื่อโต้แย้งคำฟ้องฯ ในประเด็นนี้ อาจอยู่ในลักษณะว่าเป็นหน้าที่ ปปช.หรือ ปปท.ผู้ร้องสอด  ทำคำให้การในส่วนนี้ จากนั้น จะมีการระบุคำขอไว้ตอนท้ายของคำให้การเช่นเดิมว่า “คำสั่งกรม....... ที่ไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ขอศาลฯ โปรดพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดี” เป็นต้น 

   ขั้นตอนที่ 3 การเขียนคำคัดค้านคำให้การ หน้าที่ในขั้นตอนนี้จะกลับมาเป็นหน้าที่ผู้ฟ้องคดีอีกครั้ง เพราะหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดี และผู้ร้องสอดเขียนคำให้การส่งศาลตามขั้นตอนที่ 2 แล้ว ส่วนใหญ่ศาลฯ จะส่งสำเนาคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอด พร้อมทั้งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้ผู้ฟ้องคดีทราบทางไปรษณีย์ เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีเขียนคำคัดค้านคำให้การ โดยผู้ฟ้องคดีจะต้องเขียนคำคัดค้านคำให้การ ส่งต่อเจ้าหน้าที่ศาลฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำให้การ หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด  

    แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลเห็นว่า คดีนี้ มีข้อเท็จจริงจากคำฟ้องฯ (ฉบับแรก) ของผู้ฟ้องคดี และข้อเท็จจริงจากคำให้การ (ฉบับแรก) ของผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้ร้องสอด เพียงพอแก่การพิจารณาและพิพากษาแล้ว ศาลก็จะส่งสำเนาคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้ร้องสอด ให้ผู้ฟ้องคดีทางไปรษณีย์เพื่อทราบ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ต้องเขียนคำคัดค้านคำให้การส่งศาล 

     กรณีดังกล่าว จึงถือเป็นกระจกเงาสะท้อนความจริง ว่า “เหตุใดผู้ฟ้องคดีจึงต้องพยายามเขียนคำฟ้องศาลปกครอง ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์และอัดแน่นด้วยพยานหลักฐานต่างๆ ตั้งแต่คำฟ้องฯ ฉบับแรก ที่นำไปยื่นต่อศาล”  

    กลุ่มคำสั่งศาล ที่ผู้ฟ้องคดีจะพบในขั้นตอนการทำคำคัดค้านคำให้การ

    - ตัวอย่างคำสั่งศาล แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเขียนคำคัดค้านคำให้การ (คลิก ดูตัวอย่าง)

    - ตัวอย่างคำสั่งศาล แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอด โดยไม่ต้องเขียนคำคัดค้านคำให้การ (คลิก ดูตัวอย่าง)

    ขั้นตอนที่ 4   การเขียนคำให้การเพิ่มเติม  หลังจากผู้ฟ้องคดีส่งคำคัดค้านคำให้การตามขั้นตอนที่ 3 แล้ว ศาลจะส่งสำเนาคำคัดค้านคำให้การนั้น ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอดทำคำให้การเพิ่มเติม และนำส่งศาลฯ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านคำให้การ หรือภายในระยะเวลาที่ศาลฯ กำหนด โดยลักษณะของตัวอย่าง คำให้การเพิ่มเติมในขั้นตอนนี้ ส่วนใหญ่มักจะปรากฏในลักษณะที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอด “ขอยืนยันตามคำให้การเดิม และขอให้ศาลฯ พิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดี”

    อนึ่ง นอกจากกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครอง ตามขั้นตอนปกติทั้ง 4 ขั้นตอนแล้ว ศาลฯ อาจทำการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมก็ได้ ตัวอย่างเช่น  มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดี หรือผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้เกี่ยวข้อง ทำคำชี้แจงตามประเด็นที่ศาลกำหนด หรือเรียกคู่กรณีมาไต่สวน เป็นต้น  

    ขั้นตอนที่ 5 การกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง  หลังจากศาลแสวงหาข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนที่ 1 ถึง 4 เสร็จสิ้นแล้ว ศาลจะส่งหนังสือแจ้งวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ผู้ฟ้องคดีทราบทางไปรษณีย์  โดยศาลจะแจ้งผู้ฟ้องคดีทราบล่วงหน้า ก่อนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่น้อยกว่า 10 วัน ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง หากผู้ฟ้องคดีมีเอกสารหรือข้อเท็จจริงใดที่เป็นผลดี มีคุณสำหรับตนเอง เช่น ผลคดีอาญาที่ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้องหรือผลการสอบละเมิดที่มีคำวินิจฉัยว่าทางราชการไม่เสียหาย หรือผู้ฟ้องคดีไม่ต้องชดใช้เงินแก่ทางราชการ ฯลฯ ตัวผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นคำร้องเพิ่มเติมข้อเท็จจริงเหล่านี้ ต่อศาลได้ก่อนวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง(คลิกดู ตัวอย่างหมายแจ้งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง)

   ขั้นตอนที่ 6 การกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และนัดฟังคำพิพากษา หลังจากที่ศาลส่งหนังสือแจ้งวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ผู้ฟ้องคดีตามขั้นตอนที่ 5 แล้ว ต่อมาอีกระยะหนึ่ง  ศาลจะส่งหนังสือแจ้งวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกและวันนัดฟังคำพิพากษา พร้อมส่งสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวนมาให้ผู้ฟ้องคดีทราบทางไปรษณีย์  (คลิกดู ตัวอย่าง หมายแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และนัดฟังคำพิพากษา) 

    สำหรับวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก จะมีคำแนะนำด้านหลังหนังสือฉบับดังกล่าวว่าผู้ฟ้องคดีจะไปศาลหรือไม่ก็ได้ หรือจะไปศาลในวันดังกล่าวพร้อมยื่นคำแถลงเป็นหนังสือต่อศาลก็ได้ (คลิกดู คำแนะนำการไปศาล ในวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก)

    ส่วนวันนัดฟังคำพิพากษานั้น เว็บวินัยฯ เห็นว่าผู้ฟ้องคดีควรไปศาลฯ เพื่อฟังคำพิพากษา เพราะอาจมีกระบวนการต่อเนื่องที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการหลังฟังคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ดังนี้

   (1) กรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี โดย ศาลฯ มีคำบังคับให้ต้นสังกัดเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก นั้น ตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดว่า “ให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับไว้ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ ให้รอการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” แปลความง่ายๆ ก็คือ ถ้าศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก  ตัวผู้ฟ้องคดีจะกลับเข้าไปทำงานหรือรับบำนาญได้ ต่อเมื่อไม่มีคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ถ้ามีการยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ตัวผู้ฟ้องคดีจะกลับเข้าไปทำงานหรือรับบำนาญได้ ต่อเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดีแล้วเท่านั้น

   (2) กรณีที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลฯ พิพากษายกฟ้อง นั้น  ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นคำอุทธรณ์ผ่านศาลปกครองชั้นต้นที่อ่านคำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษา  

    ส่วนการเขียนคำอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุด ก็คล้ายกับการเขียนคำฟ้องฯ เพียงแต่ให้ผู้ฟ้องคดีเปลี่ยนหลักการ จากการเขียนคำคัดค้านผู้สั่งลงโทษ มาเป็นการเขียนคำคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น  ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543  ข้อ 101 โดยการเขียนคำอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดนั้น ผู้ฟ้องคดีจะต้องเขียนอุทธรณ์ด้วยความสุภาพ ให้เกียรติ์ศาล ไม่ใช้ถ้อยคำเสียดสีรุนแรง แต่ต้องกล้าเขียนโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นว่าไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายหรือตรรกะเหตุผลอย่างไร  หรือมีการรับฟังข้อเท็จจริงที่ผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนอย่างไร มีพยานหลักฐานใดบ้างที่ศาลปกครองชั้นต้น ยังไม่ได้หยิกยกนำมาประกอบการวินิจฉัยคดี  หรือเหตุผลอื่นๆ เพื่อแสดงให้ศาลปกครองสูงสุดได้เห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นไม่ถูกต้อง 

     ทั้งนี้ ในวันฟังคำพิพากษา ให้ผู้ฟ้องคดียื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี เพื่อเตรียมไว้เป็นข้อมูลสำหรับการเขียนคำแก้อุทธรณ์หรือคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด  ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดีแต่ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หรือจากกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องการยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ชนะคดีโดยไม่มีการยื่นอุทธรณ์ ก็ให้เอาชุดเครื่องแบบออกมาซัก รอให้ต้นสังกัดดำเนินการออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษ พร้อมทั้ง ออกหนังสือเรียกตัวผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการก่อนนะครับ   ท่านจะถือเอาคำพิพากษาแล้วเดิน ดุ๋ย ดุ๋ย กลับที่ทำงานเก่า ไปบอกเค้าจัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ ให้นั่งเลยไม่ได้นะครับ ต้องรอเอกสารตามขั้นตอนการบริหารงานบุคคลของต้นสังกัด คล้ายกับสมัยที่ท่านรอรับหนังสือเรียกตัวเป็นข้าราชการบรรจุใหม่

อนึ่ง เนื่องจากในแต่ละปีจะมีปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก จึงทำให้ระยะเวลาในการพิจารณาคดีของแต่ละศาลมีความต่างกัน (คลิกดู ประกาศ เรื่องกำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดีในศาลปกครองชั้นต้น และศาลปกครองสูงสุด ) 

การที่ผลคดีจะออกได้ช้าหรือเร็วนั้น ในส่วนตัวเว็บฯ เห็นว่าการเขียนบรรยายฟ้องที่ดี ก็มีส่วนช่วยทำให้เกิดกระบวนการพิจารณาคดีที่รวดเร็วได้ ดังนั้น ในโอกาสสุดท้ายของการต่อสู้คดีเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษ นอกจากผู้ฟ้องคดีจะต้องเขียนบรรยายฟ้องถึงข้อพิสูจน์ต่างๆ ว่าคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายให้สุดฝีมือแล้ว ท่านยังต้องเขียนคำฟ้องฯ ให้กระชับและได้ใจความ เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาคดีของศาลด้วยครับ 

เพราะสุดท้ายแล้ว.. ไม่ว่าผลคดีจะออกมาอย่างไร   อย่างน้อย..  มันก็ช่วยทำให้ท่านหลุดพ้นจากการรอคอยที่แสนทรมาน เพื่อกลับเข้าทำงาน หรือไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้เร็วขึ้น


tips:คำฟ้องศาลปกครอง

       สุดท้ายนี้ วินัย.com ขอเน้นย้ำว่าคำฟ้องศาลปกครอง ถือเป็นเอกสารตั้งต้นคดีที่สำคัญ เพราะหลังจากผู้ฟ้องคดียื่นคำฟ้องฯ กับเจ้าหน้าที่ศาลแล้ว หากไม่นับรวมการไปส่งเอกสารคำคัดค้านคำให้การกับเจ้าหน้าที่ศาลอีกครั้ง ส่วนใหญ่ผู้ฟ้องคดีจะได้ไปศาลอีกเพียงวันเดียว คือวันฟังคำพิพากษา ดังนั้น การเขียนคำฟ้องศาลปกครอง ที่มีข้อเท็จจริงครบถ้วน พยานหลักฐานหนักแน่น ตั้งแต่คำฟ้องฯ (ฉบับแรก) ที่ท่านนำไปยื่นต่อศาลฯ  ย่อมทำให้ผู้พิจารณาคดีเกิดความเชื่อมั่นในรูปคดีของท่าน ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการสั่งคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ และกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีในอนาคต

      ฉะนั้น แม้ในทางทฤษฎีกฎหมายจะอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีเขียนคำฟ้องฯ ได้เองก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การเขียนข้อพิสูจน์ และคำโน้มน้าว เพื่อหักล้างว่าคำสั่งลงโทษไล่ออก ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็มิใช่เรื่องง่าย สำหรับผู้ฟ้องคดีที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ ดังนั้น เว็บวินัย จึงอยากให้ทุกท่านแบ่งเวลาเพื่อไปดำเนินการ ดังนี้

    1.นำเอกสารทั้งหมดไปปรึกษาเรื่องการวางรูปคดีกับสำนักงานกฎหมาย เฉพาะทางด้านคดีวินัยข้าราชการ หรืออย่างน้อยก็ไปปรึกษากับนักกฎหมายในหน่วยงานของท่าน ว่าเคสของท่าน มันยาก มันง่าย มันมีความซับซ้อนหรือความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ก่อนที่ตัวผู้ฟ้องคดีจะไปขอคำปรึกษานั้น ท่านควรทราบก่อนว่า นักกฎหมายนั้น อาจมีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนกัน ซึ่งนักกฎหมาย ก็เหมือนหมอ ที่มี SPECIALIST หรือ "ความเชี่ยวชาญ" ในด้านต่างๆ ที่แตกต่างกัน  

    ดังนั้น ท่านจึงไม่ควรเลือกไปปรึกษานักกฎหมาย ประเภทUniversal รักษาได้ทุกโรค ปรึกษาได้ทุกคดี ท่านควรเลือกปรึกษานักกฎหมายเฉพาะทางด้านนั้นโดยตรง ตัวอย่างเช่น เรื่องนิติกรรมสัญญาก็ท่านควรไปปรึกษานักกฎหมายฝ่ายนิติกรรมสัญญา เรื่องกฎหมายการคลังก็ควรไปปรึกษานักกฎหมายการคลัง ส่วนเรื่องวินัยก็ท่านควรไปปรึกษานักกฎหมายประจำฝ่ายวินัย เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรึกษาคดีวินัยนั้น ก็ยังแยกย่อยจำเพาะ ลงไปตามลักษณะปัญหาของผู้ฟ้องคดีด้วย ตัวอย่างเช่น ถ้าปัญหาของผู้ฟ้องคดี อยู่ในขั้นตอนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ท่านก็ควรไปปรึกษานักกฎหมาย ที่ทำหน้าที่สอบสวนประจำฝ่ายวินัย ซึ่งจะเก่งในเรื่องการแก้ข้อกล่าวหา และการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อประกอบการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 

    แต่ถ้าปัญหาของผู้ฟ้องคดี ล่วงเลยมาถึงขั้นตอนการฟ้องศาลปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษแล้ว ก็ควรไปปรึกษานักกฎหมายประจำกลุ่มงานคดีปกครอง ซึ่งจะมีความเก่งในเรื่องการเขียนคำฟ้องศาลปกครอง การเขียนคำให้การ และการเขียนคำอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุด รวมทั้ง การเขียนคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษต่างๆ  

   อย่าปล่อยให้โชคชะตา พาไปหานักกฎหมายอะไรก็ได้ เพื่อมาทำเคสเฉพาะทางด้านคดีวินัย  เนื่องจากคดีวินัยเป็นคดีที่มีตัวแปร ซึ่งเป็น กฎ ระเบียบ หรือข้อสั่งการ ทั้งที่ เป็นคุณและโทษ กับผู้ฟ้องคดีอย่างมากมาย บางกรณีนักกฎหมายเฉพาะทางก็สามารถไล่ตรวจสำนวนฯ และค้นคว้าประเด็นต่อสู้ นำมาหารือผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้รักษาการณ์ตามระเบียบ เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งลงโทษ ตามมาตรา 49 แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ได้ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาในคดี  ดังเช่นลูกค้าของเว็บวินัยฯ รายนี้  คลิก ดูภาพ " ตัวอย่าง คำสั่งเพิกถอนคำสั่งไล่ออก  ตามมาตรา 49  ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา"  และ "ตัวอย่าง คำสั่งศาลปกครอง ให้จำหน่ายคดี เพราะเหตุที่คำสั่งไล่ออก ถูกต้นสังกัดสั่งเพิกถอน ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

   ดังนั้น การไปปรึกษาคดีกับนักกฎหมายเฉพาะทาง ด้านวินัย ก็คล้ายการไปหาหมอเฉพาะทาง ที่มีความชำนาญเฉพาะโรคครับ 

...........................................

    หมายเหตุ

- ข้อความและตัวละครในหน้าเว็บคำฟ้องศาลปกครองนี้ เป็นความเห็นและเหตุการณ์สมมุติที่ดัดแปลงจากเรื่องจริง) 

  

3 ความคิดเห็น:

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า...

ความเห็นและเกร็ดคดี 30

คำสั่งลงโทษแต่ละฉบับอาจมีเนื้อหาแตกต่างกัน ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์กระทำผิด

แต่สิ่งที่คำสั่งลงโทษทุกฉบับมีเหมือนกันก็คือ ความเศร้าโศกเสียใจ ของผู้ถูกลงโทษและบุคคลในครอบครัว

การยื่นฟ้องคดีปกครอง โดยการเขียนข้อพิสูจน์ว่าคำสั่งลงโทษไล่ออก ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน และมันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะลงมือทำโดยขาดทักษะและประสบการณ์

วินัยดอทคอม เข้าใจถึงปัญหาที่ท่านกำลังเผชิญ เราจึงพร้อมเขียนคำฟ้องฯ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและข้อพิสูจน์ทางกฎหมายที่ดีที่สุดในคดี ให้แก่ท่านและครอบครัว โทรหาเราวันนี้ ที่หมายเลข 099 450 5536 เพื่อรับการประเมินเรื่องอย่างตรงไปตรงมา ฟรี

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า...

ความเห็นและเกร็ดคดี 32

มันเป็นเรื่องยากที่จะถ่ายทอดให้ผู้ไม่เคยถูกลงโทษไล่ออกฟังว่า ผลกระทบของการถูกไล่ออกรุนแรงมากเพียงใด แต่ผู้เขียนในฐานะที่ปรึกษากฎหมายได้มีโอกาสสัมผัสกับความรู้สึกของผู้ต้องโทษไล่ออกเสมอ

ตลอดระยะเวลาที่ทำงานเป็นที่ปรึกษากฎหมายวินัย มันมีแง่คิดมากมายเกินกว่าเนื้อที่จะอำนวยให้เขียนได้หมด อีกทั้ง ยังมีเรื่องราวของผู้คนมากมายเกินกว่าที่จะบอกชื่อได้ครบ แม้การเป็นที่ปรึกษากฎหมายจะมีเรื่องราวหลากหลายวนเวียนมาขอคำปรึกษาจนแทบจะจำรายละเอียดไม่ได้ก็ตาม แต่ผู้เขียนก็ไม่เคยลืมเรื่องราวของป๋าเทพ ข้าราชการบำนาญผู้น่าสงสารที่เจอมรสุมชีวิต ทั้งคดีแพ่ง คดีวินัย และคดีอาญา

เรื่องราวความน่าสงสารของป๋าเทพนั้น เริ่มตั้งแต่ชั้นไต่สวน เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหา ป๋าเทพกับเพื่อนร่วมงานอีก 9 คน แม้ตัวป๋าเทพจะเกษียณไป 5-6 เดือนแล้วก็ตาม แต่ก็พลอยติดร่างแหไปกับพวก เพราะมีการตั้งสอบไว้ก่อนป๋าเทพเกษียณ 1 เดือน

ป๋าเทพได้เล่าให้ผู้เขียนฟังทั้งน้ำตาว่า การทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในชั้นไต่สวน ทางผู้รับจ้างรายแรกก็ไม่เคยถามป๋าเทพว่าได้เซ็นชื่อตรวจรับเท็จตามที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่ผู้รับจ้างกลับเอาเนื้อหาที่หัวหน้าของป๋าเทพเขียนถึงผลสำเร็จของงาน ไปพิมพ์เพิ่มข้อความในลักษณะลอกโจทย์ลอกข้อกล่าวหา เอามาปะหน้าแปะหลังอย่างละหนึ่งแผ่น ทำเป็นหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาให้ป๋าเทพกับพวกร่วมกันเซ็นชื่อส่งผู้ไต่สวนเพียงฉบับเดียว ซึ่งตัวป๋าเทพได้มาทราบภายหลังว่าผลของการมีข้อกล่าวหา แต่ไม่แก้ข้อกล่าวหาให้ตรงจุด มันก็ต้องถูกชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยและอาญาเป็นเรื่องธรรมดา

ต่อมาในชั้นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ทางหัวหน้าที่ถูกไล่ออกด้วยกัน ก็ไปหาผู้รับจ้างรายที่สองให้ช่วยทำหนังสืออุทธรณ์ฯคำสั่งไล่ออก ป๋าเทพเล่าว่าตัวป๋าฯ ก็ไม่เคยไปพบผู้รับจ้างรายนี้เลย และผู้รับจ้างรายนี้ก็ไม่เคยโทรมาถามข้อเท็จจริงจากป๋าเทพเช่นกัน ป๋าฯ คาดว่าผู้รับจ้างน่าจะเอาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาฉบับเดิม มาปัดฝุ่น ปรับปรุงเป็นคำอุทธรณ์ฯ ให้ป๋าฯ เซ็นชื่อส่งไปยังผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งสุดท้ายคำอุทธรณ์ที่ไม่หักล้างข้อกล่าวหาก็ฟังไม่ขึ้น ถูกสั่งยกอุทธรณ์ฯ ไปตามระเบียบ

เมื่อป๋าเทพพูดจบก็ยกมือขึ้นปาดน้ำตาเล็กน้อยก่อนจะเล่าเพิ่มเติมว่า การไปปรึกษาคดีกับผู้รับจ้างรายแรกก็ไม่ใช่ถูกๆ ทางหัวหน้าที่ถูกไล่ออกด้วยกันก็เลือกพาไปสำนักงานที่ดีมีชื่อเสียง และมีสถานที่ใหญ่โตในเมืองกรุง มีทั้งนักกฎหมายที่เค้าเรียกว่าระดับซีเนียร์ และระดับจูเนียร์ มานั่งฟังข้อเท็จจริงจากลูกค้า ค่าปรึกษาคดีก็ต้องแยกจ่ายให้กับนักกฎหมายระดับซีเนียร์ทันที 3 หมื่นบาท ส่วนค่าจ้างทำคำชี้แจงฯ เรือนแสนก็ต้องแยกจ่ายเป็นทั้งค่าจ้างและค่า VAT ตัวป๋าฯ กับเพื่อนที่ไม่มีเงินก็ต้องไปกู้มาจ่ายเป็นค่าจ้างค่าปรึกษา ส่วนผู้รับจ้างรายที่สอง ที่หัวหน้าไปจ้างทำคำอุทธรณ์คำสั่งไล่ออกให้กับป๋าฯ แม้จะคิดค่าจ้างทำคำอุทธรณ์ฯ ถูกมากเพียงรายละหนึ่งหมื่นบาท แต่ก็เป็นความถูกที่มาพร้อมกับคำบอกกล่าวล่วงหน้าว่า อย่าคาดหวังอะไรมากกับชั้นอุทธรณ์ฯ ให้เตรียมตัวเตรียมใจ (อาจรวมถึงเตรียมเงิน) ไปสู้ที่ศาลปกครองดีกว่า

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า...

ความเห็นและเกร็ดคดี 32 (ต่อ)

ทำไมโลกช่างโหดร้ายกับเจ้าหน้าที่กลุ่มเหล่านี้เหลือเกิน ผู้เขียนได้แต่นึกในใจ มันไม่ใช่กรณีป๋าเทพกับพวกไม่มีเงินไปจ้างนักกฎหมาย แต่มันกลายเป็นกรณีผู้รับจ้าง รับงานโดยไม่อุตสาหะช่วยเหลือลูกค้า รายที่ราคาแพงก็น่าจะเป็นประเภทลูกค้าเขียนมาอย่างไรก็เอาตามนั้น หยิบโจทย์มาลอกพิมพ์ปะหัว แปะท้ายส่งไปก็พอ ส่วนรายที่ราคาถูกก็คงคิดแต่ว่าค่าจ้างเขียนอุทธรณ์ราคาถูกๆ แบบนี้จะเอาอะไรหนักหนา จึงทำส่งๆไปแบบไม่มีความหวัง แถมยังพูดจาทำนองเอาเป็นบุญคุณว่าปกติจะคิดแพงกว่านี้

ผู้เขียนนั้น ในฐานะทีมผู้รับจ้างรายที่สาม ได้มีโอกาสเจอป๋าเทพในชั้นคดีอาญา แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในการพาตัวป๋าเทพกลับบ้าน รอดพ้นจากคุกตะรางในคดีอาญาก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้คำสั่งลงโทษไล่ออกถูกยกเลิกโดยอัตโนมัติ ป๋าเทพกำลังจะกลายเป็นคนไร้บ้าน เพราะพิษร้ายจากการถูกไล่ออก ในคดีวินัยกำลังเริ่มออกฤทธิ์ กรมXXต้นสังกัดเดิมได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกคืนเงินบำนาญร่วมสามล้านบาท ที่ป๋าเทพเคยได้รับไปหลังเกษียณ ซึ่งป๋าฯ ก็ไม่มีเงินไปชำระคืนตามที่ศาลสั่ง คดีจึงอยู่ระหว่างการยึดบ้านป๋าเทพออกขายทอดตลาดเพื่อใช้คืนเงินบำนาญ

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอฝากเรื่องราวชีวิตป๋าเทพไว้เป็นข้อคิด สำหรับผู้ฟ้องคดีปกครองที่เป็นผู้รับบำนาญ ซึ่งถูกลงโทษไล่ออกว่า เมื่อท่านได้รับหนังสือเตือนให้ส่งคืนเงินบำนาญ หากท่านไม่มีเงินก้อนไปชำระคืน ก็ควรรีบไปทำเรื่องขอผ่อนชำระกับต้นสังกัด อย่าปล่อยให้ตนเองถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแพ่ง เพราะท่านอาจสูญเสียเงินไปเปล่าๆ กับการต่อสู้คดีแพ่งที่ไร้ประโยชน์ เพราะตราบใดที่คำสั่งลงโทษไล่ออก ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเรียกคืนเงินบำนาญยังไม่ถูกเพิกถอน โอกาสชนะคดีแพ่งก็แทบเป็นศูนย์ อีกทั้ง ท่านไม่ควรรอผลคดีปกครอง เพราะปริมาณคดีที่ขึ้นสู่ศาลปกครองแต่ละปีมีจำนวนไม่น้อย กว่าคดีจะถึงที่สุดอาจใช้เวลานาน กระบวนการยึดทรัพย์ในคดีแพ่งอาจเดินมาถึงก่อน เช่นเดียวกับป๋าเทพข้าราชการบำนาญ ซึ่งกำลังจะกลายเป็นคนไร้บ้านรายนี้ครับ

หวังใจว่ายังไม่สายเกินไป สำหรับใครสักคน

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย

หมายเหตุ ดัดแปลงจากเค้าโครงเรื่องจริง