
การฟ้องศาลปกครองนั้น จะมีขั้นตอนที่สำคัญซึ่งผู้เขียนขอนำมาเล่าพร้อมทั้งแสดงภาพถ่ายตัวอย่างคำสั่งศาลในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นยื่นฟ้องคดี ไปจนถึงวันนัดฟังคำพิพากษา เพื่อให้ทางผู้ฟ้องคดีได้เห็นภาพขั้นตอนการฟ้องศาลปกครองในแต่ละขั้นตอน ผ่านประสบการณ์ของเว็บวินัย ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การยื่นคำฟ้องศาลปกครอง ให้ผู้ฟ้องคดีนำคำฟ้องศาลปกครอง ซึ่งประกอบด้วยคำฟ้องศาลปกครอง (ต้นฉบับ) และเอกสารท้ายคำฟ้อง จำนวน ๑ ชุด พร้อมสำเนาคำฟ้องฯ ตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ท่านระบุในคำฟ้องฯ ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาลฯ โดยขั้นตอนแรกนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ศาลช่วยตรวจคำฟ้องฯ เบื้องต้น พร้อมทำการออกใบรับคำฟ้อง ให้ผู้ฟ้องคดีเก็บไว้เป็นหลักฐาน คลิก ดูภาพ “ตัวอย่าง ใบรับคำฟ้อง ( เบื้องต้น )”
ทั้งนี้ ในวันที่ยื่นคำฟ้องศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีสามารถยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ และเอกสารที่แสดงถึงความเดือดร้อนของผู้ฟ้องคดี จำนวน ๑ ชุด พร้อมทั้ง สำเนาคำร้องฯ ตามจำนวนผู้ถูกฟ้องคดีที่ท่านระบุในคำฟ้องฯ ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ศาลพร้อมกับการยื่นคำฟ้องฯ หรือท่านจะยื่นในช่วงเวลาใดๆ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลได้พิจารณาคำร้องฯ และมีคำสั่งใดๆ อันเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว เช่น การสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งไล่ออกเพื่อคุ้มครองให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้าไปทำงานเป็นการชั่วคราว
ต่อมาหลังจากที่ผู้ฟ้องคดี ยื่นคำฟ้องศาลปกครอง และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ ได้ประมาณ 1-2 เดือน (ระยะเวลาอาจแตกต่างกันตามวิธีการเขียนบรรยายฟ้อง และข้อเท็จจริงของแต่ละคน) ทางศาลที่รับคำฟ้องฯ ก็จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบคำสั่งศาลฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(1) กลุ่มคำสั่งศาล ที่เกี่ยวกับคำฟ้องศาลปกครอง
- ตัวอย่างคำสั่งศาล กรณีสั่งรับคำฟ้องฯ ไว้พิจารณา (คลิก ดูตัวอย่าง)
- ตัวอย่างคำสั่งศาล กรณีสั่งไม่รับคำฟ้องฯ ไว้พิจารณา (คลิก ดูตัวอย่าง)
(2) กลุ่มคำสั่งศาล ที่เกี่ยวกับคำขอทุเลาฯ
- ตัวอย่างคำสั่งศาล กรณีสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ (คลิก ดูตัวอย่าง)
- ตัวอย่างคำสั่งศาล กรณีสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งลงโทษ (คลิก ดูตัวอย่าง)
ขั้นตอนที่ 2 การทำคำให้การ สำหรับหน้าที่การเขียนคำให้การในขั้นตอนนี้ จะเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี (ผู้สั่งลงโทษ , ผู้วินิจฉัยอุทธรณ์ หรือ ป.ป.ช. ,ป.ป.ท. ในฐานะผู้ร้องสอด (แล้วแต่กรณี) จัดทำคำให้การส่งศาลฯ เพื่อโต้แย้งคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี และจะขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดี (คลิก ดูตัวอย่างคำให้การ)

กลุ่มคำสั่งศาล ที่ผู้ฟ้องคดีจะพบในขั้นตอนการทำคำคัดค้านคำให้การ
- ตัวอย่างคำสั่งศาล กรณีแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีเขียนคำคัดค้านคำให้การ (คลิก ดูตัวอย่าง)
- ตัวอย่างคำสั่งศาล กรณีแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี โดยไม่ต้องเขียนคำคัดค้านคำให้การ (คลิก ดูตัวอย่าง)
ขั้นตอนที่ 4 การเขียนคำให้การเพิ่มเติม หลังจากผู้ฟ้องคดีส่งคำคัดค้านคำให้การตามขั้นตอนที่ 3 แล้ว ศาลจะส่งสำเนาคำคัดค้านคำให้การนั้น ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีและผู้ร้องสอดทำคำให้การเพิ่มเติม และนำส่งศาลฯ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสำเนาคำคัดค้านคำให้การ หรือภายในระยะเวลาที่ศาลฯ กำหนด (คลิก ดูตัวอย่างคำให้การเพิ่มเติม)
อนึ่ง นอกจากกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาลปกครอง ตามขั้นตอนปกติทั้ง 4 ขั้นตอนแล้ว ศาลฯ อาจทำการแสวงหาข้อเท็จจริงด้วยวิธีการอื่นๆ เพิ่มเติมก็ได้ ตัวอย่างเช่น มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดี หรือผู้ถูกฟ้องคดีหรือผู้เกี่ยวข้อง ทำคำชี้แจงตามประเด็นที่ศาลกำหนด หรือเรียกคู่กรณีมาไต่สวน เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 5 การกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง หลังจากศาลแสวงหาข้อเท็จจริง ตามขั้นตอนที่ 1 ถึง 4 เสร็จสิ้นแล้ว ศาลจะส่งหนังสือแจ้งวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ผู้ฟ้องคดีทราบทางไปรษณีย์ โดยศาลจะแจ้งผู้ฟ้องคดีทราบล่วงหน้า ก่อนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงไม่น้อยกว่า 10 วัน ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาก่อนถึงวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง หากผู้ฟ้องคดีมีเอกสารหรือข้อเท็จจริงใดที่เป็นผลดีหรือเป็นคุณกับตนเอง เช่น ผลคดีอาญาที่ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้องหรือผลการสอบละเมิดที่มีคำวินิจฉัยว่าทางราชการไม่เสียหาย หรือผู้ฟ้องคดีไม่ต้องชดใช้เงินแก่ทางราชการ ฯลฯ ก็ให้ผู้ฟ้องคดีเขียนคำร้องขอเพิ่มเติมข้อเท็จจริงที่ดีเหล่านั้น ส่งศาลก่อนวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง (คลิกดู ตัวอย่างหมายแจ้งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง)
ขั้นตอนที่ 6 การกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และนัดฟังคำพิพากษา หลังจากที่ศาลส่งหนังสือแจ้งวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ผู้ฟ้องคดีตามขั้นตอนที่ 5 แล้ว ต่อมาอีกระยะหนึ่ง ศาลจะส่งหนังสือแจ้งวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกและวันนัดฟังคำพิพากษา พร้อมส่งสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน มาให้ผู้ฟ้องคดีทราบทางไปรษณีย์ (คลิกดู ตัวอย่าง หมายแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก และนัดฟังคำพิพากษา)
สำหรับวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก จะมีคำแนะนำด้านหลังหนังสือฉบับดังกล่าวว่าผู้ฟ้องคดีจะไปศาลหรือไม่ก็ได้ หรือจะไปศาลในวันดังกล่าวพร้อมยื่นคำแถลงเป็นหนังสือต่อศาลก็ได้ (คลิกดู คำแนะนำการไปศาล )
ส่วนวันนัดฟังคำพิพากษานั้น ผู้ฟ้องคดีควรไปศาลฯ เพื่อฟังคำพิพากษา เพราะอาจมีกระบวนการต่อเนื่องที่ผู้ฟ้องคดีต้องดำเนินการหลังฟังคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ดังนี้
(1) กรณีที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี โดย ศาลฯ มีคำบังคับให้ต้นสังกัดเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก นั้น ตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดว่า “ให้รอการปฏิบัติตามคำบังคับไว้ จนกว่าจะพ้นระยะเวลาอุทธรณ์ หรือในกรณีที่มีการอุทธรณ์ ให้รอการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด” แปลความง่ายๆ ก็คือ ถ้าศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก ตัวผู้ฟ้องคดีจะกลับเข้าไปทำงานหรือรับบำนาญได้ ต่อเมื่อไม่มีคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด แต่ถ้ามีการยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ตัวผู้ฟ้องคดีจะกลับเข้าไปทำงานหรือรับบำนาญได้ ต่อเมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดีแล้วเท่านั้น
(2) กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลฯ พิพากษายกฟ้อง นั้น ตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นคำอุทธรณ์ผ่านศาลปกครองชั้นต้นที่อ่านคำพิพากษาไปยังศาลปกครองสูงสุด ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้มีคำพิพากษา
ดังนั้น ในวันฟังคำพิพากษา ผู้ฟ้องคดีจึงควรยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี เพื่อเตรียมไว้เป็นข้อมูล สำหรับการเขียนคำแก้อุทธรณ์หรือคำอุทธรณ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายชนะคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด หรือจากกรณีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นฝ่ายแพ้คดี และต้องการยื่นคำอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ชนะคดี โดยไม่มีการอุทธรณ์ ก็ให้เอาชุดเครื่องแบบออกมาซัก รอต้นสังกัดดำเนินการออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งลงโทษ พร้อมทั้ง ออกหนังสือเรียกตัวผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการก่อนนะครับ ท่านจะถือเอาคำพิพากษาแล้วเดิน ดุ๋ย ดุ๋ย.. กลับที่ทำงานเก่า ไปบอกเค้าจัดโต๊ะ จัดเก้าอี้ ให้นั่งเลยไม่ได้ ต้องรอเอกสารตามขั้นตอนบริหารงานบุคคลก่อน คล้ายกับสมัยที่ท่านสอบแข่งขันเข้ารับราชการจนสำเร็จ และรอหนังสือเรียกรายงานตัวเป็นข้าราชการบรรจุใหม่ครับ
หมายเหตุ ประกาศศาลปกครอง เรื่อง กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดีในศาลปกครอง พ.ศ.2566 (คลิก)
