Ads block

Banner 728x90px

ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย


 

ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย 

   ก่อนอื่นเว็บวินัย ขอเรียนให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนว่า “ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย” นั้น จะมีความแตกต่างกันตามกฎเกณฑ์การอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐในแต่ละประเภท ดังนั้น ก่อนการยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ผู้อุทธรณ์ฯ จึงต้องตรวจสอบก่อนว่ากฎเกณฑ์การอุทธรณ์ฯ ของท่านได้กำหนดเรื่อง “ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย” ไว้อย่างไร เพื่อที่ผู้อุทธรณ์ฯ จะได้วางแผนการเขียนคำอุทธรณ์ให้ถูกต้องตามขั้นตอน นั้น

สำหรับ “ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย”ที่ใช้แสดงเป็นตัวอย่างให้ผู้อุทธรณ์ฯ ทราบผ่านประสบการณ์ของผู้เขียนนี้ จะเป็นขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของข้าราชการพลเรือน ตาม กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์ฯ พ.ศ.2551 ซึ่งจำแนกเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้อุทธรณ์ได้จำนวน 6 ขั้นตอน ดังนี้ 

  • ขั้นตอนที่ 1 ผู้อุทธรณ์ ไปยื่นหนังสืออุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ต่อ ก.พ.ค.
  • ขั้นตอนที่ 2 ก.พ.ค. จะแจ้งรายชื่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ และชื่อกรรมการเจ้าของสำนวน พร้อมแจ้งสิทธิ์การคัดค้านให้ผู้อุทธรณ์ฯ ทราบ (คลิกดู ตัวอย่าง)
  • ขั้นตอนที่ 3 ก.พ.ค. ทำการส่งสำเนาหนังสืออุทธรณ์ฯ ของผู้อุทธรณ์ ไปให้ผู้สั่งลงโทษทำเอกสาร "คำแก้อุทธรณ์" (คลิกดู ตัวอย่าง)
  • ขั้นตอนที่ 4 ก.พ.ค. จะส่งสำเนาคำแก้อุทธรณ์ของผู้สั่งลงโทษ มาให้ผู้อุทธรณ์ทำเอกสาร "คำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์" (คลิกดู ตัวอย่าง
  • ขั้นตอนที่ 5 ก.พ.ค. ทำการส่งสำเนาคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ฯ ของผู้อุทธรณ์ ไปให้ผู้สั่งลงโทษทำเอกสาร "คำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม" (คลิกดู ตัวอย่าง
  • ขั้นตอนที่ 6 ก.พ.ค.จะแจ้งกำหนดวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรก พร้อมส่ง บันทึกสรุปข้อเท็จจริงของกรรมการเจ้าของสำนวนมาให้ผู้อุทธรณ์ทราบ โดยวันนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรกนี้ ผู้อุทธรณ์ฯ จะไปหรือไม่ก็ได้ รวมทั้ง จะทำ “คำแถลง” ประกอบคำอุทธรณ์ฯ หรือไม่ก็ได้ (คลิกดู ตัวอย่าง) ส่วนการแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ ทาง ก.พ.ค. จะมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบในภายหลัง
     ทั้งนี้ ผู้อุทธรณ์ฯ ที่มิใช่ข้าราชการพลเรือน ควรตรวจสอบเรื่อง “ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย” และเรื่องสิทธิ์ทำ “คำแถลง” กับเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องอุทธรณ์ฯ ให้แจ้งชัด  เพื่อมิให้ท่านเสียโอกาสในการทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ หรือคำโต้แย้งต่างๆ 

    เพราะกระบวนการอุทธรณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภท อาจจะมีกระบวนการโต้ตอบ ที่เปิดโอกาสให้ผู้อุทธรณ์ฯ แสดงเหตุผลเพื่อไปหักล้างผู้สั่งลงโทษ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ได้เห็น "น้อยกว่า" ผู้อุทธรณ์ที่เป็นข้าราชการพลเรือนก็ได้ เช่น ขรก. ตำรวจ XX อาจเริ่มที่คำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ และจบด้วยคำแก้อุทธรณ์ของผู้สั่งลงโทษ หรือ กรณี ขรก.ท้องถิ่น XX อาจเริ่มต้นที่คำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ และจบด้วยการนำสำนวนสอบสวนมาพิจารณา และวินิจฉัยความถูกผิดของการสั่งลงโทษ ด้วยดุลยพินิจของผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์เอง 

    ฉะนั้น ยิ่งผู้อุทธรณ์มีโอกาสโต้ตอบ-แสดงเหตุผลเพื่อไปหักล้างกับผู้สั่งลงโทษ ให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ได้เห็น น้อยเท่าไหร่  “คำอุทธรณ์”ของท่าน ก็จะต้องอัดแน่นด้วยข้อโต้แย้งและเหตุผลทางกฎหมาย มากยิ่งขึ้นเท่านั้น 



Tips: ขั้นตอนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย

-   เพราะการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ส่วนใหญ่..  มักดำเนินการบน "กระดาษ"  :  ท่านจึงต้องมี "หนังสือคำอุทธรณ์" ที่แข็งแกร่ง

    ส่วนใหญ่กระบวนการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ มักจะเริ่มต้นด้วยการยื่นเอกสารคำอุทธรณ์ฯ ของผู้อุทธรณ์ แล้วตามด้วยเอกสารคำแก้อุทธรณ์จากผู้สั่งลงโทษ โดยเอกสารคำอุทธรณ์และเอกสารคำแก้อุทธรณ์ ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทั้งสองฝ่าย จะระบุข้ออ้างและข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่สนับสนุนจุดยืนของตน จากนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯจะนำเอกสารจากทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับเอกสารต่างๆ ในสำนวนการสอบสวน 

    แต่บางกรณีกระบวนการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ อาจสั้นกว่า โดยเริ่มจากการยื่นเอกสารคำอุทธรณ์ของฝ่ายผู้อุทธรณ์ แล้วตามด้วยคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ นำคำอุทธรณ์ฯ ดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับเอกสารต่างๆ ในสำนวนการสอบสวน โดยไม่ส่งคำอุทธรณ์ฯ ไปให้ผู้สั่งลงโทษทำคำแก้อุทธรณ์ฯ แต่อย่างใด
 
    บางครั้ง ผู้อุทธรณ์ อาจยื่นคำขอเข้าแถลงด้วยวาจา และคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ อาจจัดให้มีการแถลงด้วยวาจา โดยให้แต่ละฝ่ายนำเสนอข้ออ้าง และข้อโต้แย้งของตน 

    สุดท้ายหากคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ เห็นว่ามีข้อผิดพลาดทางกฎหมาย หรือมีข้อบกพร่องในขั้นตอนทางวินัยที่สำคัญ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ฯ อาจพลิกคำตัดสินของผู้สั่งลงโทษ โดยสั่งลดโทษหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษนั้นต่อไป

    จากข้อเท็จจริง ในกระบวนการวินิจฉัยอุทธรณ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า  การตัดสินอุทธรณ์ฯ ส่วนใหญ่ มักดำเนินการบน "กระดาษเอกสาร"  ที่ผู้อุทธรณ์เขียนโต้ตอบกับผู้สั่งลงโทษ หรือที่ผู้อุทธรณ์เขียนโต้แย้งสำนวนการสอบสวน
    
  ดังนั้น หากผู้อุทธรณ์ มิใช่ผู้ถูกลงโทษวินัย เพราะคำรับสารภาพของตนเอง หรือเป็นผู้ขาดงานเกินกว่า 15 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควร  บรรดา "เอกสารคำอุทธรณ์ฯ" ของท่านจึงต้องเป็น "กระดาษเอกสาร" ที่แข็งแกร่ง อัดแน่นด้วยข้อโต้แย้งทางกฎหมายที่น่าเชื่อถือ   และที่สำคัญ  ต้องมีเหตุผล และน้ำหนักเพียงพอ  แก่การหักล้างผลการสอบสวนด้วยครับ  


......................................
    
    การเขียนอุทธรณ์ฯ ยังมีวิธีการที่แตกต่างจากที่กล่าวข้างต้นอีกหลายวิธี เช่น กรณีผู้บริหาร แม้ดูผิวเผินจะมีกฎระเบียบ และชั้นบังคับบัญชาเป็นเกราะป้องกันตัว แต่ก็อาจถูกวางตรรกะในการลงโทษ จากข้อพิรุธในคดี และนำหน้าที่.. ในการบริหารราชการตามกฎระเบียบเหล่านั้น ย้อนกลับมาปิดปากตนเอง  ส่วนผู้อุทธรณ์ที่ตกเป็นผู้สนับสนุน ก็ต้องดูสิ่งที่ใช้เชื่อมโยงความผิด /บริบทแวดล้อมต่างๆ โดยจะมีวิธีการเขียนอุทธรณ์ฯ สู้ตามตรรกะกฎหมายที่แตกต่าง ดังนั้น ผู้อุทธรณ์ที่ยังไม่มีทักษะและประสบการณ์ในการเขียนอุทธรณ์ฯ จึงควรมีที่ปรึกษากฎหมายหรือนักกฎหมาย ที่เข้าใจเรื่องกฎหมายวินัยข้าราชการอย่างแท้จริง