Ads block

Banner 728x90px

หนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา


หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 

    เรื่องราวที่น่ากังวลของ “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” ในทุกวันนี้ก็คือผู้ถูกกล่าวหามักจะเขียน “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” ด้วยคำอธิบายที่สั้นลงทุกวัน มันอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก ถ้าเป็น “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” ในการสอบวินัยไม่ร้ายแรง แต่ถ้าเป็นการสอบวินัยร้ายแรง หรือการไต่สวนของ ปปช. , ปปท. ซึ่งมีการชี้มูลความผิดทั้งในทางวินัยและอาญาแล้วละก้อ การทำ “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา”ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญต่ออนาคต และอิสรภาพของผู้ถูกกล่าวหา

การทำ “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” นั้น หลายคนอาจถอดใจ ตั้งแต่ครั้งแรกที่อ่านบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาฯ โดยที่ยังไม่เริ่มลงมือเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสักบรรทัด 

มันไม่ใช่เพราะเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไม่ได้ แต่เป็นเพราะไม่รู้จะเริ่มเขียนอย่างไร บางครั้งการเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสำหรับมือใหม่...   ก็คล้ายการพายเรือในอ่าง จะพายนานแค่ไหน ก็วนมาที่เก่าซ้ำแล้วซ้ำอีก 

 

การเขียนแก้ข้อกล่าวหา คืออะไร

    การเขียนแก้ข้อกล่าวหา คือการเขียนคำโต้แย้ง หรือคำชี้แจงเพื่อไปหักล้างข้อกล่าวหา และพยานหลักฐานเบื้องต้นต่างๆ ที่ผู้สอบสวน /ไต่สวน แจ้งว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิด 
    โดยก่อนการเขียนแก้ข้อกล่าวหานั้น ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องวิเคราะห์ก่อนว่า “ข้อกล่าวหา” นั้น มีข้อมูลที่เป็น ข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและ พยานหลักฐาน ตามการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างไร และข้อมูลทั้งสามส่วนนี้ ถูกเชื่อมโยงความผิดมายังตัวผู้ถูกกล่าวหาอย่างไร 

    ตัวอย่างที่ 1 การวิเคราะห์ข้อกล่าวหา กรณีละทิ้งหน้าที่ราชการและไม่ปฏิบัติตามระเบียบการลา ฝ่ายผู้สอบสวนอาจแจ้งข้อกล่าวหาแก่ท่านว่า "..ในระหว่างวันที่ 1-5 ต.ค. ท่าน(นายดำ) ไม่มาทำงานที่สำนักงาน A โดยไม่ทราบสาเหตุ ครั้งต่อมาในวันที่ 6 ต.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่ท่านกลับมาปฏิบัติงาน ปรากฏว่าท่านไม่ดำเนินการยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาในวันดังกล่าว โดยมีการจัดส่งใบลาถึงผู้บังคับบัญชาในวันที่ 30 ต.ค. กรณีดังกล่าว จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบการลา ข้อ 18 วรรคแรก ซึ่งกำหนดให้ผู้ประสงค์ลาป่วยยื่นใบลาในโอกาสแรกที่กลับมาปฏิบัติงาน  ทั้งนี้ ได้มีพยานบุคคลซึ่งปฏิบัติงานในห้องทำงานแห่งเดียวกับท่านให้การยืนยันว่าท่านไม่มาปฏิบัติงานในห้วงเวลาดังกล่าว รวมทั้ง ยืนยันว่าท่านไม่เสนอใบลาต่อผู้บังคับบัญชาในวันแรกที่กลับมาปฏิบัติงาน กับทั้ง มีพยานบุคคลอีกหนึ่งราย ยืนยันว่าในช่วงเวลาที่ท่านไม่มาปฏิบัติงานนั้น พยานได้พบเห็นท่านที่หน้าโรงงิ้ว ถนนเยาวราช

ตัวอย่างที่ 2 การวิเคราะห์ข้อกล่าวหา กรณีการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมอันเป็นเท็จ ฝ่ายผู้สอบสวนอาจแจ้งข้อกล่าวหาแก่ท่านว่า "..ในระหว่างเดือน ส.ค. สำนักงาน B ได้รับอนุมัติให้จัดอบรมเยาวชนภายในประเทศ แต่ผู้จัดอบรมได้พาคณะผู้อบรมไปกินอาหารและพักค้างที่โรงแรมในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อกลับมาผู้จัดอบรมได้นำใบเสร็จของโรงแรมและร้านค้าภายในประเทศ มายื่นประกอบการเบิกจ่ายเพื่อหักล้างเงินยืม โดยมีพยานซึ่งเป็นผู้เข้าอบรมให้ปากคำว่าไปกินอาหารและพักค้างที่โรงแรมในประเทศเพื่อนบ้าน และพยานที่เป็นพนักงานโรงแรม  และร้านอาหารซึ่งมีชื่อตามใบเสร็จได้ปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินตามใบเสร็จดังกล่าว และใบเสร็จดังกล่าวไม่ใช่ของตน ต่อมาในเดือน ก.ย. ท่านในฐานะผู้รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงาน B ได้ลงนามอนุมัติในฎีกาเลขที่ XX ให้เบิกเงินค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมดังกล่าว ทั้งที่ไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อตามใบเสร็จแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ตัวอักษรสีน้ำเงินคือส่วนที่เป็นข้อเท็จจริง ตัวอักษรสีแดงคือส่วนที่เป็นข้อกฎหมาย และตัวสีเขียวคือส่วนที่เป็นพยานหลักฐานที่ใช้สนับสนุนข้อกล่าวหา ส่วนบริเวณที่ขีดเส้นใต้ก็คือจุดเชื่อมโยงความผิด และเมื่อผู้ถูกกล่าวหาวิเคราะห์ข้อกล่าวหา โดยการแยกข้อมูลทั้งสามส่วนเสร็จสิ้น รวมทั้ง เล็งเห็นว่ามีช่องทางต่อสู้ เพื่อให้ท่านเขียนคำโต้แย้ง/คำหักล้าง ข้อกล่าวหาในประเด็นใด และอย่างไรแล้ว ก็ให้ท่านทำการวางโครงร่างการเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปตามนั้น เช่น ตัวอย่าง การแก้ข้อกล่าวหา กรณีเล็งเห็นช่องทางต่อสู้เรื่องเจตนากระทำผิด (ตามตัวอย่างที่ 2 )  โดยการยกข้อเท็จจริงในเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาพึ่งย้ายมาปฏิบัติงานที่สำนักงาน B หลังการอบรมแล้วเสร็จ ผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่ทราบข้อเท็จจริงเรื่องการพาคณะผู้อบรมไปกินอาหารและพักค้างในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเรื่องการนำใบเสร็จเท็จมาหักล้างเงินยืม ดังนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาลงนามอนุมัติให้หักล้างเงินยืมตามการเสนอในสายการบังคับบัญชา จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีเจตนาร่วมกระทำความผิดทั้งทางวินัยและอาญากับผู้ใด     


วิธีเขียนหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา


       เนื่องจากกฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวน ต่างมิได้บัญญัติเรื่องรูปแบบ และวิธีการเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไว้ให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ศึกษา ส่วนใหญ่ที่ปรากฏจะมีเพียงการบัญญัติเรื่องสิทธิ์ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเท่านั้น ดังนั้น ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือการไปให้ "ถ้อยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา" สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่มีที่ปรึกษากฎหมาย จึงมักจะอยู่ในรูปแบบการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตามความรู้ความเข้าใจของตน ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะการชี้แจงข้อกล่าวหาที่มีประสิทธิภาพ และตรงประเด็นสามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้ดีที่สุด คือ "การชี้แจงฯ แบบหักล้างข้อกล่าวหา ตามหลักองค์ประกอบความผิด" ที่ผู้สอบสวน/ไต่สวน แจ้งมาในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา
    
    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่ได้จบทางนิติศาสตร์หรือไม่ได้ว่าจ้างนักกฎหมายส่วนตัว นั้น เว็บวินัย ขอเรียนว่าวิธีการเขียนหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา แบบที่เข้าใจง่าย แม้อาจจะต้องขยันเขียนมากหน่อย แต่ก็เหมาะสำหรับการเขียนชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยตนเอง ก็คือการเขียนแก้ข้อกล่าวแบบกำหนดเป็น "ประเด็นข้อพิพาท"

    ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาบางท่านอาจสงสัยว่าการกำหนดประเด็นข้อพิพาท จะกำหนดอย่างไร ในเมื่อบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาฯ ไม่แยกเป็นรายประเด็นให้ไว้ กรณีดังกล่าว เว็บวินัยฯ ใคร่ขอยกมาตรา 183 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เพื่อใช้ประกอบการอธิบายเรื่องการกำหนดประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

“ในวันชี้สองสถานให้คู่ความมาศาล และให้ศาลตรวจคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความแล้วนำข้ออ้าง ข้อเถียงที่ปรากฏในคำคู่ความและคำแถลงของคู่ความเทียบกับดู และสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียง และพยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาล  ว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้างข้อเถียงนั้นอย่างไร ข้อเท็จจริงใดที่คู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น  ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับ และเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความ ให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท  และให้กำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบ ……..”


จากข้อกฎหมายข้างต้น จะเห็นได้ว่า "ประเด็นข้อพิพาท"  คือปมปัญหาที่คู่ความทั้งสองฝ่ายยังคงโต้แย้งกันอยู่ หรือยังไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้น วิธีการเขียนหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาในรูปแบบการกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท จึงอยู่ในลักษณะที่ว่าหากในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาฯ ปรากฏข้อความต่างๆ อันเป็นปมปัญหาที่ท่านประสงค์โต้แย้ง ก็ให้ท่านนำปมปัญหาเหล่านั้น มากำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทให้ครบทุกปมปัญหา 

จากนั้น ให้ทำการเขียนคำโต้แย้ง โดยการอธิบาย"ข้อเถียง”และเหตุผล พร้อมทั้ง อ้างพยานหลักฐานที่ใช้สนับสนุน “ข้อเถียง” ในแต่ละประเด็น ลงในหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา โดยเขียนไล่เรียง ตามเนื้อเรื่องที่ปรากฏตามบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาตั้งแต่ต้นจนครบทุกประเด็นที่ต้องการโต้แย้ง

หมายเหตุ 1.ให้ท่านเขียนคำโต้แย้งในลักษณะเช่นนี้ไปเรื่อยๆ กระทั่งจบประเด็นข้อพิพาทที่ท่านเล็งเห็นจากบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา เพื่อให้ผู้สอบสวน นำข้อเท็จจริงต่างๆตามคำโต้แย้งของท่านไปจัดการตามหลักองค์ประกอบความผิดต่อไป ทั้งนี้ การรู้หลักองค์ประกอบความผิด จะทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีเข็มทิศในการเขียนคำโต้แย้ง ไม่ต้องตะลุยเขียนสู้ทุกประโยค  
    2. การแก้ข้อกล่าวหานั้น ท่านจะเขียนเล่าแต่ความจริงอย่างเดียวไม่ได้ จะต้องใช้พยานหลักฐานสนับสนุนการแก้ข้อกล่าวหาด้วย ที่ผ่านมามีผู้ถูกกล่าวหาหลายรายที่พลาด เพราะเขียนเล่าแต่ความจริง โดยไม่อ้างถึงพยานหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตน หากท่านไม่เจอผู้สอบสวนที่ใจดีมีเมตตา ไปคลำหาพยานหลักฐานตามคำโต้แย้งของท่านละก้อ โอกาสจะอวสาน มีเยอะมาก เพราะในกระบวนการชั่งน้ำหนักพยานจะถือเป็นคำโต้แย้งเพียงลอยๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

    จากนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาทำการโต้แย้งและอธิบาย “ข้อเถียง” ในแต่ละประเด็นครบถ้วนแล้ว ให้ทำการเขียนคำขอของผู้ถูกกล่าวหาไว้ตอนท้ายของหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งส่วนใหญ่ คำขอท้ายหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา จะแบ่งได้เป็น 2 กรณี ดังนี้
  • กรณีรับสารภาพและประสงค์ให้ลงโทษสถานเบา ผู้ถูกกล่าวหาก็อาจมีคำขอท้ายหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา  ตัวอย่างเช่น จากข้อเท็จจริงที่ข้าให้การรับสารภาพข้างต้น ขอได้โปรดพิจารณาลดหย่อนโทษแก่ข้าฯ ตามสัดส่วนที่ข้าฯได้เคยทำคุณความดีในระหว่างรับราชการ รวมทั้งในระหว่างที่มีการสอบสวนวินัยในเรื่องนี้ ” (ควรใช้เฉพาะการสอบวินัยของหน่วยงานต้นสังกัดเท่านั้น)
  • กรณีปฎิเสธทุกข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาก็อาจมีคำขอท้ายหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตัวอย่างเช่น จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานหลักฐานที่ข้าฯได้ชี้แจงมาข้างต้น จึงเป็นกรณีที่ข้าฯมิได้กระทำผิดตามที่กล่าวหา ขอได้โปรดมีคำวินิจฉัยให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวตกไป ทั้งนี้ ตัวอย่างคำขอข้างต้น เป็นการแนะนำไว้อย่างกว้างๆ เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ทุกกรณี ดังนั้น หากผู้ถูกกล่าวหาท่านใด มีเหตุผลพิเศษเพิ่มเติมก็เขียนเหตุผลนั้นเพิ่มเติมเข้าไปได้เลยครับ

 การแจ้งผลการแก้ข้อกล่าวหา

    สำหรับการแจ้งผลการแก้ข้อกล่าวหานั้น  มักไม่มีกฎ-กติกากำหนดกรอบระยะเวลาไว้ ขึ้นอยู่กับว่าจะสอบสวนแล้วเสร็จเมื่อใด จะต้องสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งจะต้องส่งเรื่องให้ อ.ก.พ.กรม / อ.ก.พ. กระทรวง /อ.ก.พ.จังหวัด /ก.ท้องถิ่นต่างๆ พิจารณาความผิดและกำหนดโทษหรือไม่  
    
    แต่ส่วนใหญ่ ผู้เขียนพบว่าประมาณ 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง หลังจากท่านส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว ทางหน่วยงานผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน  หรือผู้สั่งลงโทษ ก็จะมีหนังสือแจ้งยุติเรื่อง หรือหนังสือแจ้งคำสั่งลงโทษส่งให้ท่านทราบ 

    โดยรูปแบบของหนังสือแจ้งยุติเรื่อง สำหรับท่านที่ “ สอบแก้ข้อกล่าวหาผ่าน ” จะมีรูปแบบแยกตามประเภทการสอบสวน ดังเช่น ตัวอย่างหนังสือแจ้งยุติเรื่องของลูกค้า วินัย.com ท้ายนี้



ส่วนท่านที่สอบแก้ข้อกล่าวหา “ไม่ผ่าน”  ในเรื่องของโทษทางวินัยก็ให้ท่านยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษภายใน 30 วัน หรือ 15 วันสำหรับพนักงานราชการ และปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องสิทธิ์ในการอุทธรณ์ฯ ที่ปรากฏในตอนท้ายของคำสั่งลงโทษอย่างเคร่งครัด ส่วนการต่อสู้คดีอาญา หลังการชี้มูลความผิด (เฉพาะท่านที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งทางวินัยและทางอาญา) ส่วนใหญ่ ผู้เขียนพบว่าหลังการเซ็นรับทราบคำสั่งลงโทษวินัยร้ายแรง ประมาณ 6 เดือน – 1 ปี ก็จะมีหนังสือจากผู้ไต่สวน แจ้งนัดหมายล่วงหน้าประมาณ 15 วัน ให้ท่านเดินทางไปพบอัยการเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาล  โดยหนังสือฉบับดังกล่าว จะแจ้งเรื่องสำคัญที่ท่านควรทราบและต้องจัดเตรียมล่วงหน้า ดังนี้

  1. แจ้งฐานความผิดอาญา ที่อัยการจะสั่งฟ้องท่าน
  2. แจ้งให้ท่านจัดเตรียมหลักทรัพย์มาใช้ประกันตัว หากประสงค์จะประกันตัวออกจากเรือนจำ เพื่อมาต่อสู้คดีในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
 
 อนึ่ง  ท่านสามารถศึกษากระบวนการทางวินัยและการสู้คดีในชั้นศาลต่างๆ ได้เพิ่มเติมที่ เมนู 

Tips:หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

       วิธีการเขียนหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา ในแบบกำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทข้างต้น เหมาะสำหรับการเขียนแก้ข้อกล่าวหาในเรื่องที่เป็นการกระทำผิดเฉพาะตัว เช่น เรื่องละทิ้งหน้าที่ราชการ , เรื่องไม่อุตสาหะเอาใจใส่หน้าที่ , เรื่องไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นเรื่องทุจริต หรือร่วมกันกระทำผิด แบบแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งมีการบรรยายข้อกล่าวหาแบบซับซ้อน มันมิใช่เรื่องง่าย  

    และสิ่งที่สำคัญก็คือ การจัดทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนวินัย /ชั้นไต่สวน มันก็เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรกในกระบวนการทางวินัย หากท่านติดกระดุมเม็ดแรกผิดพลาด มันก็จะผิดเพี้ยนไปหมดทั้งแถว ประมาณว่าผิดยาวไปถึงชั้นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย และชั้นศาลปกครอง รวมทั้ง ชั้นศาลอาญาคดีทุจริต โอกาสที่จะไปต่อสู้คดีเพื่อแก้ไขสถานการณ์กลับคืนจึงค่อนข้างยาก ( พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 22 บัญญัติว่า “ในคดีที่อัยการสูงสุด พนักงานอัยการ ประธานกรรมการ ปปช.หรือ คณะกรรมการ ปปช. เป็นโจทก์ ให้ศาลนำรายงานและสำนวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของโจทก์ มาเป็นหลักในการแสวงหาความจริง....”) 
 
  ดังนั้น  สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่มีทักษะและประสบการณ์ในการเขียนชี้แจงข้อกล่าวหา .ท่านควรหาเวลาว่างแบบยาวๆ เพื่อมานั่งเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยเฉพาะข้อกล่าวหาในการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง หรือการไต่สวนของ ปปช. ปปท. ที่มีการชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา ซึ่งถือเป็นงานเขียนที่ชี้ชะตา  ชี้อนาคต  และชี้อิสรภาพของผู้ถูกกล่าวหา เนื่องจากการเขียนคำชี้แจงฯ เพื่อไปหักล้างข้อกล่าวหานั้น จะต่างจากการเขียนหนังสือราชการทั่วไป เพราะนอกจากท่านจะต้องมีสมาธิกับการเขียนแก้ฯ ตามหลักองค์ประกอบความผิดในฐานความผิดที่ถูกกล่าวหาแล้ว ท่านยังต้องแบ่งเวลาไปค้นหาพยานหลักฐานเพื่อสนับสนุนการแก้ข้อกล่าวหาอีกด้วย

แหล่งความรู้เกี่ยวกับการแก้ข้อกล่าวหา 

    ส่วนใหญ่การจะพิจารณาว่าคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหา สามารถหักล้างข้อกล่าวหาได้หรือไม่ นั้น  นอกจากผู้สอบสวนจะต้องตรวจตามเนื้อหาคำชี้แจงฯ และพยานหลักฐานประกอบคำชี้แจงฯ แล้ว ยังต้องตรวจตามหลักองค์ประกอบความผิดในข้อกฎหมายอีกด้วย

    ดังนั้น สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาวินัยร้ายแรง ซึ่งมีความเสี่ยงต่ออาชีพการงาน และอิสรภาพนั้น  ท่านควรจะเข้าไปศึกษา หรือสอบถามข้อมูลเบื้องต้น จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าคำชี้แจงของท่านจะครอบคลุมทุกประเด็นกฎหมาย ดังนี้

  • เข้าเว็บไซด์ศาลปกครอง เพื่อศึกษาแนวคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีวินัย โดยควรอ่าน ทั้งรูปแบบที่ศาลเคยตัดสินให้ผู้ถูกลงโทษเป็นฝ่ายชนะคดี เพื่อเป็นแนวทางในการเขียนหักล้างข้อกล่าวหาต่างๆ และอ่านในรูปแบบที่ศาลเคยตัดสินให้ผู้ถูกลงโทษเป็นฝ่ายแพ้คดี เพื่ออุดช่องว่างต่างๆ 

  • โทรปรึกษาสำนักงานกฎหมายของภาคเอกชนต่างๆ ที่ลงโฆษณาให้คำปรึกษาฟรี  เพื่อเป็นทางลัดในการเขียนคำชี้แจงฯ ดีกว่าท่านต้องไปตะลุยอ่านตำรากฎหมายและแนวคำพิพากษาที่เกี่ยวข้องภายใน 15 หรือ 30 วัน ส่วนจะได้ความรู้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ด้านคดีวินัยของสำนักงานกฎหมายแต่ละแห่ง 

  • ไปปรึกษานิติกร ของกลุ่มงานวินัยประจำหน่วยงานท่าน โดยให้พยายามเลือกหานิติกรที่มีประสบการณ์ ด้านงานสอบสวน และยิ่งเคยเขียนคำแก้อุทธรณ์ฯ หรือเขียนแก้คำฟ้องคดีปกครองมาก่อนก็ยิ่งดี จะได้มองเห็นปัญหาได้ไกลๆ และวางทางหนีทีไล่ให้ท่านไว้ล่วงหน้า  แต่ที่สำคัญต้องเป็นนิติกรที่มีเวลาว่างมากๆ เพื่อมานั่งซักถามเรื่องราวจากท่าน จำไว้เลยนะครับว่านิติกรคนไหนที่ซักถาม และขอตรวจเอกสารกับท่านมากที่สุด นิติกรคนนั้น คือคนที่พยายามหาทางช่วยท่านมากที่สุด (ต้องเผื่อใจไว้ด้วย เพราะนิติกรอาจให้คำปรึกษาที่เป็นปรปักษ์กับหน่วยงานตนเองไม่ได้) 

    ทั้งนี้ เพื่อขอความรู้จากนิติกรเกี่ยวกับหลักองค์ประกอบความผิดในฐานความผิดที่ท่านถูกแจ้งข้อกล่าวหา
    , การกำหนดประเด็นการเขียนแก้ข้อกล่าวหา  แบบตัดองค์ประกอบความผิด (ไม่ควรเขียนเองแบบสะเปะสะปะ ท่านควรอาศัยหรือซื้อประสบการณ์จากนิติกรเฉพาะทางด้านวินัย เพราะว่าหลักองค์ประกอบความผิดก็เหมือนสมการทางคณิตศาสตร์ ถ้าไม่ครบองค์ประกอบความผิด ใครก็สั่งลงโทษท่านไม่ได้) 
  • หากท่านไม่มีใครให้ปรึกษาเลย ก็ให้ถามเรื่องหลักองค์ประกอบความผิด กับทางคณะผู้สอบสวนเลยครับ  เพราะเค้ามีหน้าที่อธิบายข้อกล่าวหาให้ท่านทราบอยู่แล้ว 

       สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังว่าวิธีการเขียน  “ หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ” ข้างต้น คงจุดประกายแนวคิดให้กับทุกท่านที่ประสบปัญหาถูกสอบสวน/ไต่สวน หรือเป็นผู้ที่มีชีวิตการทำงาน ชนิดแขวนอยู่บนเส้นด้าย  ท่านต้องพยายามต่อสู้ อย่าให้ชีวิตราชการต้องขาดลงครับ