Ads block

Banner 728x90px

การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย


การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย คืออะไร

ก่อนการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือการเขียนข้อความใดๆ ลงในหนังสือ “อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย” ขอให้ผู้อุทธรณ์ทุกท่าน หายใจเข้าลึกๆ  และถอนหายใจออกมายาวๆ  เมื่อจะเริ่มลงมือเขียน “อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย”

สิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่เรื่องธรรมะ หรือการทำสมาธิก่อนการเขียนอุทธรณ์ฯ แต่การหายใจเข้าลึกๆ และถอนหายใจออกมายาวๆ มันจะทำให้เราใจเย็นขึ้น สงบขึ้น รวมทั้งสามารถมองเห็นปัญหาในการ “อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย” ได้ชัดเจนขึ้น
ที่สำคัญ การหายใจทำให้เรารู้ว่า เรายังไม่ตายไปพร้อมกับคำสั่งลงโทษ   


มื่อชีวิตยังต้องเดินต่อ ชีวิตก็ต้องมีความหวัง แน่นอนว่าการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย คือความหวังของผู้อุทธรณ์ และทุกคนในครอบครัว ดังนั้น ก่อนที่จะลงมือเขียนอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ผู้อุทธรณ์ฯ จึงควรทราบก่อนว่าการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยคืออะไร รูปแบบของการอุทธรณ์ฯ เป็นอย่างไร รวมทั้ง มีขั้นตอนและหลักการเขียนอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยเช่นไร ดังนี้ 

“การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย” คือ การร้องขอความเป็นธรรมจากกรณีที่ถูกลงโทษทางวินัย เพื่อให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ทำการพิจารณาหรือทบทวนการลงโทษใหม่ 

รูปแบบการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย


    ส่วนใหญ่รูปแบบการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ครู , อบต , เทศบาล หรือพนักงานราชการ ก็มักมีรูปแบบการอุทธรณ์ฯ คล้ายกับข้าราชการพลเรือน ดังนั้น รูปแบบการอุทธรณ์ ที่วินัยดอทคอม จะกล่าวในที่นี้ จึงเป็นการให้ความเห็นตามหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยของข้าราชการพลเรือน ตาม กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์ฯ พ.ศ.2551 ข้อ 27  ซึ่งกำหนดว่าการอุทธรณ์ฯ จะต้องทำเป็น “หนังสืออุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย” ยื่นต่อ  ประธาน ก.พ.ค. โดยใช้ถ้อยคำสุภาพ และมีสาระสำคัญ ดังนี้
  1. ชื่อ/ตำแหน่ง และสังกัดของผู้อุทธรณ์ฯ  รวมทั้ง ที่อยู่ในการติดต่อเกี่ยวกับเรื่องอุทธรณ์
  2. คำสั่งที่เป็นสาเหตุแห่งการอุทธรณ์ และวันที่ท่านรับทราบคำสั่ง
  3. ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย ที่ผู้อุทธรณ์ประสงค์ยกเป็นข้อคัดค้านคำสั่งลงโทษ
  4. คำขอของผู้อุทธรณ์
  5. ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์
 โดยส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังสืออุทธรณ์คำสั่งลงโทษวินัย ก็คือส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนเนื้อหาคดี ที่ผู้อุทธรณ์จะต้องให้เหตุผลทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เพื่อโต้แย้ง-หักล้าง คำวินิจฉัยของผู้สอบสวน/ไต่สวน ในรายงานสอบสวน/ไต่สวน ที่ระบุว่าท่านเป็นผู้กระทำความผิด

     ทั้งนี้ ผู้ถูกสั่งลงโทษที่เป็นข้าราชการพลเรือน / ครู ต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ภายใน 30 วัน  ต่อ ก.พ.ค. หรือ ก.ค.ศ แล้วแต่กรณี ส่วนผู้อุทธรณ์ที่เป็นพนักงานราชการ ต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบ หรือถือว่าทราบคำสั่งลงโทษ  หรือตามที่ระบุไว้ในคำสั่งลงโทษ 

การเขียนอุทธรณ์ฯ ในปัญหาข้อเท็จจริง


เพราะประวัติศาสตร์มักถูกเขียนโดยผู้ชนะ ดังนั้น คุณความดี และคราบน้ำตาของผู้แพ้ จึงอาจไม่มีการบันทึกไว้  

เชื่อไหมว่า.. เนื้อหาในสำนวนสอบสวนที่องค์กรอุทธรณ์ฯ หรือศาลฯ มักจะใช้เป็นหลักในการพิจารณาคดี ก็มักจะมีแนวโน้มเช่นเดียวกับเรื่องทางประวัติศาสตร์ คือมักปราศจากความดีของผู้แพ้ (ผู้ถูกลงโทษ) . ดังนั้น เพื่อเป็นการดึงรูปคดีให้มีน้ำหนักเอนเอียงมาทางผู้อุทธรณ์บ้าง ท่านควรจะแบ่งการเขียนอุทธรณ์ฯ ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 
  • ส่วนแรก คือการเขียนคำโต้แย้ง ในเนื้อหาว่าท่านไม่ได้กระทำผิดหรือไม่มีเจตนากระทำผิด หรือไม่ได้กระทำผิดถึงขั้นวินัยอย่างร้ายแรงอย่างไร ทั้งนี้ วินัย.com ขอเรียนว่า การต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์หรือชั้นศาลนั้น ถือว่าเป็นการต่อสู้ในหลักวิชากฎหมาย ฉะนั้น บรรดานิติกรหรือองค์คณะที่เกี่ยวข้องต่างๆ . จึงมักจะใช้หลักองค์ประกอบความผิดเป็นเครื่องคัดกรองคำอุทธรณ์ฯ หรือคำฟ้องต่างๆ ดังนั้น ผู้อุทธรณ์จึงต้องพยายามเขียนเนื้อหาคำอุทธรณ์ฯ หรือคำฟ้องฯ ด้วยการให้เหตุผลตามหลักองค์ประกอบความผิดในข้อกฎหมายและตามฐานความผิดที่ท่านถูกลงโทษ เพื่อดึงรูปคดี ให้มีน้ำหนักเอนเอียงมาทางผู้อุทธรณ์บ้าง รวมทั้ง เพื่อป้องกันมิให้คำอุทธรณ์หรือคำฟ้อง ของท่านถูกตีตกได้โดยง่าย เพราะไม่ได้เขียนหักล้างตามข้อกฎหมาย  
  • ส่วนที่สอง คือการเขียนคำโต้แย้ง กลุ่มข้อความอันเป็นคำวินิจฉัยหรือความเห็นของผู้สอบสวน/ไต่สวน ที่ระบุว่าท่านเป็นผู้กระทำความผิด ว่า มีความบกพร่อง ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม ขัดต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย หรือหลักการรับฟังพยานหลักฐานอย่างไร เช่น ตัวอย่าง อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ท้ายนี้ 



แต่สิ่งที่เว็บวินัยเป็นห่วง ก็คือการไล่เนื้อหาในสำนวนสอบสวน/ไต่สวน เพื่อค้นหาข้อบกพร่องทางคดี เพราะมันเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ ในการไล่ตรวจสำนวนฯ ว่ามีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องที่ใด เพื่อจะได้นำมาเขียนเป็นคำโต้แย้งให้ถูกจุด เพราะการอุทธรณ์ฯ นั้น หากท่านโต้แย้งโดนจุดตายของสำนวนก็อาจมีผลให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษ แต่ถ้าโต้แย้งผิดจุด ก็อาจสร้างแค่แผลถลอก ซึ่งอาจมีผลเพียงการแก้ไขข้อความในคำสั่งลงโทษ โดยที่ผู้อุทธรณ์ยังต้องรับโทษตามเดิม

เคล็ดลับการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษวินัย 

   เฉพาะผู้ถูกไล่ออกฐานทุจริต (ตามการสอบสวนของกรมหรือหน่วยงานต้นสังกัด) 
    1.ให้ผู้อุทธรณ์รวมรวบพยานหลักฐานและเขียนเหตุผลเพื่อหนีจากฐานทุจริตให้ได้ก่อน เพราะถ้าท่านเขียนหนีจากฐานทุจริตไม่ได้ คำอุทธรณ์ฯ หรือคำฟ้องฯ ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะโทษฐานทุจริตตามมติ ครม.คือการไล่ออกสถานเดียว ไม่อาจร้องขอเพื่อลดหย่อนโทษได้
     2.หากท่านเขียนเหตุผลและแสดงพยานหลักฐานเพื่อหนีจากฐานทุจริตได้อย่างสมเหตุสมผลแล้ว  ก็จะเหลือการเขียนแก้ในฐานความผิดไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ซึ่งมักถูกใช้คู่กับการลงโทษฐานทุจริต หรือเขียนแก้ในฐานความผิดอื่น ที่ถูกลงโทษคู่กับฐานทุจริต   
    ให้ผู้อุทธรณ์แสดงพยานหลักฐานและเขียนแก้ว่าการกระทำของท่านไม่ได้ทำให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรงอย่างไร เช่น การแสดงผลสอบละเมิดที่มีคำวินิจฉัยว่าท่านไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ทางราชการ  เพื่อโน้มน้าวให้องค์กรพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่าพฤติการณ์ของท่านไม่อยู่ในองค์ประกอบความผิดวินัยร้ายแรง เป็นเพียงการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แบบแผนโดยที่ทางราชการไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรง จึงเป็นเพียงความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และขอให้วินิจฉัยปรับลดโทษเป็นโทษวินัยไม่ร้ายแรง 
     3. หากท่านเขียนหักล้างเรื่องความเสียหายร้ายแรงของทางราชการไม่ได้ ก็ให้พยายามรวบรวมเอกสารความดี ระหว่างรับราชการ เพื่อใช้ประกอบการร้องขอลดหย่อนโทษ จากไล่ออกเป็นปลดออก หรือจะเขียนขอแบบครอบจักรวาลว่า ขอลดหย่อนโทษ จากโทษไล่ออก เป็นโทษระดับใดๆ ที่ต่ำกว่าโทษไล่ออกก็ได้

    การเขียนอุทธรณ์ฯ ในปัญหาข้อกฎหมาย

        การอุทธรณ์ฯ ในปัญหาข้อกฎหมาย ถือเป็นโจทย์ที่ง่ายที่สุดของการเขียนอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย เนื่องจากข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ผู้สอบสวน/ไต่สวน ได้รวบรวมไว้ในสำนวนฯ นั้น มันหยุดนิ่งและยุติลงแล้ว

         ดังนั้น  หากผู้อุทธรณ์ตรวจพบว่าในสำนวนสอบสวน มีเรื่องราวหรือข้อเท็จจริงใด ที่ผู้สอบสวนปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหรือ ระเบียบฉบับใด ท่านก็สามารถนำเรื่องราวหรือข้อเท็จจริงนั้น มาเขียนเป็นข้อโต้แย้งในปัญหาข้อกฎหมายได้เลย ตัวอย่างเช่น การเขียนอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย กรณีตรวจพบว่าบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาฯ ที่ผู้สอบสวนนำมาแจ้งกับผู้อุทธรณ์ ขณะที่ท่านยังเป็นผู้ถูกกล่าวหา ได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า "ผู้สอบสวนไม่ได้สรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับทราบ" โดยกลุ่มข้อความที่ขีดเส้นใต้ไว้ข้างต้น ก็คือ "ข้อเท็จจริง" ของการกระทำที่ไม่ถูกต้องของผู้สอบสวน และเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติลงแล้วตาม "พยานเอกสาร" ซึ่งก็คือ “บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา” ที่ผู้สอบสวนนำมาแจ้งข้อกล่าวหากับท่าน

        ส่วนวิธีการเขียนอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ก็ให้ท่านนำ "ข้อเท็จจริง" ของการกระทำที่ไม่ถูกต้องนั้น มาปรับเข้ากับข้อกฎหมาย ซึ่งในที่นี้ก็คือ กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย 2556 ข้อ 40 จากนั้น ก็ไปเขียนบรรยายเป็นข้อโต้แย้ง ในหนังสืออุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ตาม "ตัวอย่าง อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย" ท้ายนี้  

         "  ผู้อุทธรณ์ ขออุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย จากกรณีที่กระบวนการดำเนินการทางวินัย กับผู้อุทธรณ์ ในขั้นตอนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน ได้ปรากฏการกระทำที่ผิด กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย 2556 ข้อ 40 เพราะผู้สอบสวนมิได้ทำการสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้อุทธรณ์ได้รับทราบ ฯลฯ ดังนั้น การแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการที่กฎหมายกำหนด มีผลให้คำสั่งกรม / กระทรวง ….. ที่สั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ โดยอาศัยผลการสอบสวนที่มิชอบด้วยหลักเกณฑ์การสอบสวนข้างต้น จึงมิชอบด้วยกฎหมายตามไปด้วย .."
    พยานหลักฐานที่สนับสนุนการอุทธรณ์ฯ ประเด็นข้างต้น
        1.บันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา (แบบ ดว.5) ตามเอกสารหมายเลข..     
        2.กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย 2556 ข้อ 40 ตามเอกสารหมายเลข.... 

    ทั้งนี้ เว็บวินัย ขอแนะนำให้เขียนเฉพาะใจความสำคัญตามตัวอย่างอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยข้างต้นก็พอแล้ว เพราะอย่างไรเสีย ผู้อุทธรณ์ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว เนื่องจากมันเป็นเรื่องที่ผู้สอบสวน ทำผิดกฎเกณฑ์การสอบสวนจริงๆ 

    Tips: การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย

       สรุป การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยคือ การร้องขอให้มีการพิจารณาหรือทบทวนการลงโทษใหม่ โดยการโต้แย้งว่ามีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นในกระบวนการทางวินัย ซึ่งข้อผิดพลาดดังกล่าว อาจมีได้ตั้งแต่ปัญหาในขั้นตอนแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ขั้นตอนการสอบสวน ขั้นตอนการพิจารณาความผิด และขั้นตอนการกำหนดโทษ ดังนั้น การอุทธรณ์ฯ จึงเป็นมากกว่าการหยิบยกข้อเท็จจริงของคดีมาพูดซ้ำ อย่างที่หลายท่านเข้าใจครับ