Ads block

Banner 728x90px

การชี้แจงข้อเท็จจริง


ชี้แจงข้อเท็จจริง คืออะไร

หากพูดถึงการ “ชี้แจงข้อเท็จจริง” หลายคนอาจนึกถึงภาพการทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงส่งต่อผู้บังคับบัญชาที่สั่งให้ชี้แจงข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่คนไม่รู้เกี่ยวกับการชี้แจงข้อเท็จจริง  ก็คือ บางครั้งการชี้แจงข้อเท็จจริงก็เปรียบเสมือนการเดินบนทาง 3 แพร่ง ของกระบวน การทางวินัย ว่าจะมีมูลหรือไม่มีมูล ให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป 


แต่ทว่าเรื่องราวอันน่ากังวลของการชี้แจงข้อเท็จจริงยังไม่จบเพียงเท่านี้ หากว่าการชี้แจงข้อเท็จจริงนั้น ปรากฏมูลความผิดในทางแพ่งหรืออาญา ผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง อาจถูกอัพเกรดเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง” เป็น “ผู้ถูกกล่าวหา” หรือ “ผู้ต้องหา” โดยอัตโนมัติ

“พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง” ผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงบางท่านปรับแผนชี้แจงข้อเท็จจริง ไปตามสำนวนไทยข้างต้น…. แต่ช้าก่อนครับ เว็บวินัยฯขอเรียนว่าสำหรับกระบวนการทางวินัยแล้ว บางครั้งการไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆก็อาจเป็นข้อเสียเปรียบเรื่องเชิงคดีของผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงในอนาคต หากภายหลังจะนำข้อเท็จจริงหรือพยานหลักฐานที่ท่านรู้เห็นหรือมีอยู่ในมือตั้งแต่วันที่ถูกสอบข้อเท็จจริงนั้น ไปกล่าวอ้างในชั้นสอบวินัย/ชั้นไต่สวน หรือชั้นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ เพราะผู้พิจารณาอาจเกิดความสงสัยในเรื่องความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ว่าเหตุใด จู่ๆก็โผล่มาแสดงในชั้นสอบวินัย/ชั้นไต่สวน หรือชั้นอุทธรณ์ฯ 


ดังนั้น เพื่อมิให้การชี้แจงข้อเท็จจริง ในชั้นสืบสวนข้อเท็จจริงเกิดข้อบกพร่อง และข้อเสียเปรียบทางคดี ผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง จึงควรทราบถึงวิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงที่เหมาะสม ดังนี้

แรกเริ่มเราต้องเข้าใจก่อนว่า “การชี้แจงข้อเท็จจริง” คือ การอธิบายหรือแจกแจงเรื่องราวเพื่อประกอบการชี้แจงข้อเท็จจริง สำหรับการชี้แจงข้อเท็จจริงในที่นี้ คือการชี้แจงข้อเท็จจริงทางวินัย ซึ่งเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุร้องเรียนต่างๆ ทั้งในและนอกหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียน  โดยที่เหตุร้องเรียนดังกล่าวอาจเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการสร้างเรื่องเท็จกลั่นแกล้งร้องเรียน เพื่อหวังผลให้ผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงถูกเพ่งเล็งหรือถูกโยกย้ายออกจากพื้นที่ โดยตัวอย่างของการชี้แจงข้อเท็จจริงทางวินัย อาจมีได้ทั้งการทำเป็นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือการไปชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา


วิธีชี้แจงข้อเท็จจริง

ปกติแล้วผู้สืบสวนข้อเท็จจริงจะเป็นผู้กำหนดวิธีการและรายละเอียดในการให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนทำการชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งโดยทั่วไป มักมีการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนมาพบ และให้ถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา เนื่องจากบางครั้งการสืบสวนข้อเท็จจริง อาจเกิดจากหนังสือร้องเรียนที่เป็นเพียงกระดาษแผ่นเดียว โดยยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานอื่นใด จึงทำให้การสืบสวนเบื้องต้น ไม่สามารถลงรายละเอียดหรือกำหนดหัวข้อสืบสวนได้อย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายประเด็นได้ทันที ฝ่ายผู้สืบสวนจำต้องดำเนินการเก็บรายละเอียดจากฝั่งผู้ร้องเรียน ฝั่งผู้เสียหายและผู้เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะกำหนดหัวข้อสืบสวนเป็นรายประเด็น เพื่อมอบให้เจ้าหน้าที่ ผู้ถูกร้องเรียนทำการชี้แจงข้อเท็จจริงเป็น "หนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง" หรือ " ด้วยวาจา " ในภายหลัง

ดังนั้น การชี้แจงข้อเท็จจริงในเบื้องต้นจึงมักเป็นการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจา และไม่มีรูปแบบที่ตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจและการวางรูปคดีของผู้สืบสวน ซึ่งวิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างง่าย ที่ท่านสามารถฝึกทำได้ด้วยตนเอง และเป็นวิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงที่ไม่เกิดผลเสียต่อรูปคดีกับเจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนในอนาคต คือการชี้แจงข้อเท็จจริง โดยนำกฎ ระเบียบของทางราชการมาใช้เป็นหลักยึดในการเขียนชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อให้การชี้แจงข้อเท็จจริงนั้น มีน้ำหนักและรับฟังได้ตามระเบียบกฎหมาย ซึ่งวิธีการชี้แจงข้อเท็จจริงในลักษณะนี้  สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ

  1. กรณีที่มีกฎหรือระเบียบเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนโดยตรง เช่น ตัวอย่างการชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการปฎิเสธทำบัตรประจำตัวประชาชนของเด็ก สมมุติว่าเจ้าหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้อง ในเรื่องการปฎิเสธทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรกของเด็กเจ็ดขวบ ซึ่งตามข้อ 11 ของระเบียบว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนฯ กำหนดให้ผู้ขอต้องนำสูติบัตรมาแสดง หากผู้ขอมีบัตรฯมิได้นำสูติบัตรมาแสดงและร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ไม่ยอมออกบัตรฯให้โดยมิชอบ ก็ให้ทำการชี้แจงฯโดยบอกเล่าถึงข้อเท็จจริงที่ฝ่ายผู้ขอมิได้นำสูติบัตรมาแสดงเพื่อประกอบการพิจาณาอนุญาต จากนั้นให้สอดแทรกระเบียบฯข้อ 11 ลงในคำชี้แจงว่าเหตุขัดข้องในการทำบัตรดังกล่าวเกิดจากฝ่ายผู้ร้องเรียนมิได้นำเอกสารมาให้ครบถ้วนตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดซึ่งประกอบด้วยเอกสารใดบ้าง รวมทั้ง หากเคยมีหนังสือสั่งการ กำชับกวดขันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเหตุร้องเรียนดังกล่าวมาแล้ว ก็ให้ท่านนำมากล่าวอ้างเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย
  2. กรณีที่ไม่มีกฎหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนโดยตรง กรณีนี้อาจพบเห็นได้น้อย เพราะการปฏิบัติหน้าที่ราชการใดๆมักจะมีการออกกฏ หรือระเบียบมากำกับวิธีการปฏิบัติงานไว้อยู่แล้ว แต่ก็อาจมีบางเรื่องที่กฏระเบียบมิได้กล่าวถึง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยของการทำงาน ดังนั้น การชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องทำนองนี้ จึงต้องอาศัยตัวบทกฎหมายหรือระเบียบใกล้เคียงเป็นตัวประคองการเขียนชี้แจงข้อเท็จจริง เช่น  ตัวอย่างการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีถูกร้องเรียนว่าจอดรถยนต์ราชการในลักษณะกีดขวางการจราจร  ซึ่งแน่นอนครับว่าเรื่องพฤติกรรมการขับขี่หรือจอดรถราชการ นั้น ระเบียบการใช้รถราชการฯ ย่อมมิได้กำหนดรายละเอียดไปถึงว่าผู้ใช้รถต้องขับขี่ และต้องจอดรถอย่างไร ดังนั้น เมื่อเกิดข้อร้องเรียนในกรณีดังกล่าว ให้ท่านทำการชี้แจงฯ โดยอ้างเกณฑ์มาตรฐานการจอดรถตาม พรบ.จราจรทางบกฯ ว่าการจอดรถของท่านได้จอดห่างจากขอบทางเท้าด้านซ้ายเพียงใด  พร้อมกับเขียนชี้แจงว่าการจอดรถในลักษณะดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจอดรถตาม พรบ.จราจรทางบกหรือไม่ อย่างไร  รวมทั้งให้ทำการชี้แจงข้อเท็จจริงโดยอธิบายถึงสภาพแวดล้อมอื่นๆ อันจำเป็นและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ต้องจอดรถไว้ในสถานที่แห่งนั้น ทั้งนี้ เพื่อหาหลักยึดตามระเบียบกฎหมายว่าการจอดรถของท่านเบียงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ 
อนึ่ง หากการชี้แจงข้อเท็จจริงทั้ง 2 กรณีข้างต้น เจ้าหน้าที่ผู้ถูกร้องเรียนมีพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ในเรื่องที่ท่านถูกร้องเรียนและต้องการอ้างพยานเหล่านั้นประกอบการชี้แจงข้อเท็จจริงของตนก็ให้ท่านอ้างชื่อพยานเหล่านั้นติดไว้ในบันทึกถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงหรือในหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย แต่หากขณะนั้นท่านยังไม่ทราบชื่อพยานก็ควรทำการชี้แจง โดยแจ้งต่อผู้สืบสวนว่าเหตุร้องเรียนดังกล่าว เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานหรือสถานที่สาธารณะ ซึ่งมีผู้พบเห็นเหตุการณ์หลายคน  ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ต่อการนำพยานบุคคลเหล่านั้น เข้าสืบในชั้นสอบวินัย หรือชั้นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษต่อไป 


ส่วนการชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีที่คาบเกี่ยวว่าเจ้าหน้าที่จะเป็นฝ่ายผิดหรือไม่ กรณีเช่นนี้ ผู้ชี้แจงฯ จำต้องเขียนแสดงเจตนากระทำ หรือปัจจัยแห่งความบกพร่อง/ล่าช้าประกอบด้วย เช่น ตัวอย่างการชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนกรณี “ตี”เด็กนักเรียน ซึ่งตามระเบียบแล้วคุณครูไม่มีอำนาจลงโทษเด็กนักเรียนด้วยการ “ตี”แต่อย่างใด เรื่องทำนองนี้นับว่าเป็นเรื่องราวที่น่าเห็นใจคุณครูในระดับชั้นอนุบาลเป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็กโตยังพอรับรู้เรื่องและตระหนักถึงโทษทัณฑ์ตามระเบียบ แต่สำหรับเด็กอนุบาล ซึ่งยังไร้เดียงสา การรับรู้เรื่องเหตุและผลมีน้อยมาก คุณครูส่วนใหญ่จึงต้องถือไม้เรียว  หรือไม้บรรทัด เป็นเชิงสัญลักษณ์ประกอบการสอน หรือการพูดห้ามปรามเด็ก  ดังนั้น หากเกิดเหตุร้องเรียนในเรื่องลักษณะดังกล่าว การชี้แจงข้อเท็จจริง ควรแบ่งการเขียนคำชี้แจงข้อเท็จจริง ออกเป็น 3 ช่วง ดังนี้
  1. ช่วงก่อนเกิดเหตุ ให้ทำการเขียนคำชี้แจงในลักษณะเขียนบรรยายเหตุการณ์ทั่วไป โดยยึดเกาะตามระเบียบหรือแนวทางปฏิบัติในชั้นเรียนเท่าที่ไม่ขัดแย้งกับชุดข้อความช่วงที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องเจตนากระทำ
  2. ช่วงขณะเกิดเหตุ จะเป็นชุดข้อความเรื่องเจตนากระทำก็ให้ท่านทำการเขียนอธิบายว่ากรณีที่ถูกร้องเรียนนั้น มีเจตนากระทำหรือไม่ หรือเป็นเรื่องของอุบัติเหตุ หรือความประมาท อย่างไร พร้อมทั้งเขียนบรรยายถึงลักษณะหรือพฤติการณ์ขณะเกิดเหตุ โดยเน้นการบอกเล่าเรื่องราวอันเป็นพฤติกรรมของเด็กว่าก่อนเกิดเหตุมีพฤติกรรมอย่างไร และท่านได้มีการห้ามปราบ หรือตักเตือนด้วยวาจาก่อนหรือไม่ อย่างไร 
  3. ช่วงหลังเกิดเหตุ คุณครูได้มีการตรวจ ดูแล รักษา หรือบรรเทาเรื่องราวอย่างไร ให้ท่านเขียนแสดงไว้ในการชี้แจงข้อเท็จจริงด้วย

TIPS:ชี้แจงข้อเท็จจริง  

  เมื่อการชี้แจงข้อเท็จจริง เปรียบเสมือนการเดินบนทาง 3 แพร่งของกระบวนการทางวินัย ดังนั้น ในสภาพการทำงานที่รีบเร่ง และภาระการประชุมที่มากมาย เสมือนเป็นงานประจำอย่างหนึ่งของคนทำงาน จึงอาจทำให้กลุ่มเจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารบางท่านทำการชี้แจงข้อเท็จจริง โดยให้ถ้อยคำบอกเล่าเรื่องราวในชั้นสืบสวนข้อเท็จจริง ที่มีข้อบกพร่องหรือข้อเสียเปรียบทางคดี  ซึ่งอาจส่งผลร้ายต่อตัวผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงในอนาคต


    การชี้แจงข้อเท็จจริงที่ดีนั้น ฝ่ายเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกร้องเรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ในการใช้ดุลยพินิจหรือใช้อำนาจตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนอย่างชัดเจน และควรทำการชี้แจงข้อเท็จจริงตาม
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ตลอดทั้ง องค์ประกอบในการใช้ดุลยพินิจหรือใช้อำนาจนั้นเสียก่อน 
    ครั้นเมื่อท่านชี้แจงข้อเท็จจริงตามแนวทางข้างต้นเสร็จแล้ว จึงค่อยชี้แจงข้อคิดเห็นของตนเอง หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงาน หรือนำเสนอพยานหลักฐานอื่นๆ ที่จะช่วยสื่อสารให้ผู้สืบสวนเห็นถึงเจตนากระทำของท่านตามติดลงไป และที่สำคัญก็คือท่านควรชี้แจงข้อเท็จจริง เฉพาะเรื่องที่อยู่ในขอบเขตหน้าที่ตน ไม่ควรชี้แจงข้ามขอบเขตอำนาจหน้าที่ หากท่านไม่ทราบเรื่องราวอย่างแท้จริง เพราะหากเกิดผิดพลาดไปเข้าเงื่อนไขการมีมูลทางวินัยแล้ว ท่านหรือผู้เกี่ยวข้อง อาจต้องเหนื่อยกับการไปแก้ข้อกล่าวหา ในชั้นสอบวินัย/ชั้นไต่สวน ก็อาจเป็นได้
    
สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ อย่าอาศัยแนวทางปฏิบัติภายในหน่วยงาน มาเป็นแนวทางการตอบข้อสอบถามของผู้สืบสวน เพราะอาจเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงเกินไป หากหน่วยงานของท่าน มีแนวทางปฏิบัติภายในที่ผิดจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของทางราชการ แต่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยยังไม่มีการตรวจพบการกระทำผิด  เมื่อใดที่มีการแต่งตั้งผู้สืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว หากท่านยังคงนำเหตุผล ตลอดทั้งแนวทางปฎิบัติภายในที่ผิดระเบียบ มาใช้ตอบข้อสอบถามของผู้สืบสวน การชี้แจงข้อเท็จจริงด้วยวาจาในลักษณะดังกล่าว ย่อมไม่ต่างอะไรจาก "คำรับสารภาพ" เลยครับ 
    ดังนั้น การชี้แจงข้อเท็จจริงที่ดี คือการชี้แจงข้อเท็จจริงภายใต้ความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบที่ถูกต้อง รวมทั้ง ต้องตระหนักไว้ว่าการชี้แจงข้อเท็จจริงนั้น เปรียบเสมือนด่านแรกของกระบวนการทางวินัยหรือการไต่สวน ท่านจึงต้องระวังอย่าให้ถ้อยคำชั้นสอบข้อเท็จจริง ย้อนกลับมาทำร้ายตนเอง ในชั้นสอบวินัยหรือชั้นไต่สวนชี้มูลความผิด.


2 ความคิดเห็น:

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า...

ความเห็นและเกร็ดคดี 11

เชื่อไหมว่า บาดแผลจากคำชี้แจงฯ ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ในวันนี้ อาจทำให้ผู้ชี้แจงฯ บางคนต้องถูกจำคุกหรือไล่ออกในวันหน้า

การไปปรึกษาคดีกับนักกฎหมายเฉพาะทาง ในช่วงวิกฤต 15 วันของการชี้แจงข้อเท็จจริง หรือการชี้แจงข้อกล่าวหา คือการตัดสินใจที่ชาญฉลาด เพราะเปรียบเสมือนการเดินทางลัดผ่านทักษะ และประสบการณ์ที่สั่งสมมานานนับปีของนักกฎหมาย ที่ท่านไม่อาจหาได้ด้วยตนเองภายในระยะเวลา 15 วัน

อย่าลองผิดลองถูกด้วยตนเอง หากท่านหรือคนที่ท่านรัก อยู่ระหว่างการถูกสอบสวนในเรื่องที่เกี่ยวกับโทษวินัยและอาญา โปรดไปปรึกษาคดีกับนักกฎหมายเฉพาะทางด้านวินัยทุกแห่งที่ท่านไว้วางใจ เพื่อโอกาสในการแก้ไขปัญหา เชิงบวกให้กับตนเอง

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย กล่าวว่า...

ความเห็นและเกร็ดคดี 8

คำกล่าวที่ว่า “ ..... อนุมัติตามเอกสารหลักฐาน ที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอมา” ถือเป็นวลีเด็ดที่มัก ได้ยินบ่อยครั้ง ในการสอบสวนคดีวินัย หรือคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ

วลีเด็ดที่เป็นข้ออ้างข้างต้น ไม่ว่าจะเกิดจากกรณีผู้บังคับบัญชาสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำผิด หรือเกิดจากกรณีผู้ใต้บังคับบัญชายัดไส้เอกสารหลอกผู้บังคับบัญชาให้ลงนาม หรือจะเกิดจากความประมาทรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของทั้งสองฝ่ายก็ตาม วลีเด็ดดังกล่าวได้สะท้อนความจริงประการหนึ่งว่า ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิด แต่เมื่อถึงเวลาที่เกิดเรื่องเกิดคดีความแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับชั้นก็จะหันมายึดกฎหรือระเบียบ และสายการบังคับบัญชาเป็นเกราะป้องกันตัว

ดังนั้น สำหรับน้องๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในชั้นต้น ซึ่งบังเอิญเข้ามาอ่านโดยที่ยังไม่มีคดีความใดๆ ก็ขอให้ทุกท่านกล้ายืนหยัดที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามกฎระเบียบของทางราชการอย่างเคร่งครัด เพราะสิ่งเหล่านี้ก็เปรียบเสมือนเกราะป้องกันตัว จากโทษทางแพ่ง วินัย และอาญา ซึ่งน้องๆ สามารถหยิบขึ้นมาสวมใส่เพื่อปกป้องตนเองได้เช่นเดียวกับผู้บังคับบัญชา

ทั้งนี้ น้องๆ ควรรู้ว่าการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งหรือกฎระเบียบข้อใด แม้ท่านจะไม่รับผลประโยชน์ใดๆ ก็ตาม แต่ก็อาจนำมาซึ่งโทษทางวินัยและอาญาในฐานะผู้สนับสนุน ดังนั้น ในการปฏิบัติหน้าที่ใดๆ น้องๆจงอย่าเกรงใจผู้ใด ขอให้อ่านและตรวจสอบเอกสารต่างๆ ตลอดทั้ง ลงมือทำให้ถูกต้อง และครบทุกขั้นตอนตามที่ กฎระเบียบกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด อีกทั้ง น้องๆ ต้องรอบคอบเรื่องการใช้จ่ายเงินเดือน และต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยุอันเป็นวัตถุนิยมตามกาลสมัย รวมทั้ง อย่าเล่นการพนัน หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินฐานะ เพราะจากการที่ผู้เขียนได้มาให้คำปรึกษาคดีในช่วงหลังๆ พบว่าปัญหาหนี้สินเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่กระทำผิดวินัยมากขึ้น

ส่วนท่านที่เป็นผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจอนุมัติ/อนุญาต หรือเป็นผู้บังคับบัญชาที่ถือรหัสผ่านการเข้าระบบงานคอมพิวเตอร์ของภาครัฐ แม้ท่านจะเหน็ดเหนื่อยจากภารกิจในหน้าที่การงานต่างๆ มากเพียงใด แต่อย่าลืมว่าอำนาจมันก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบตามหน้าที่ ดังนั้น สำหรับการอนุมัติ/อนุญาต หรือการเข้าระบบงานคอมพิวเตอร์ ในเรื่องจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องการเงิน หรือเรื่องการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการต่างๆ รวมทั้ง เรื่องที่อาจสร้างผลประโยชน์ให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด

ท่านควรให้ความสำคัญกับการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเสนอมา ให้ครบถ้วนและถูกต้องตามระเบียบอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเอกสารที่ส่งมาจากกลุ่มงานที่มีการผลักภาระงานที่มีความรับผิดชอบสูงๆ เช่น งานพัสดุ งานการเงิน ระบบ GFMIS ระบบ e-GP ไปให้พนักงาน TOR ชั่วคราวหรือเด็กบรรจุใหม่ หรือให้เจ้าหน้าที่ผู้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือยเกินฐานะ เป็นผู้ปฏิบัติ

งานที่เสนอมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาในลักษณะเช่นนี้ ท่านต้องระมัดระวังให้มาก ผู้ใหญ่บางคนอาจพลาดถูกลงโทษ หรือถูกสั่งให้ชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ ทั้งที่ เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แต่ต้องเอากระดูกมาแขวนคอ เพราะความใจดี และความประมาทที่มอบรหัสผ่านให้ผู้อื่นทำแทนตน ท่านควรรักตนเองให้มาก เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อถึงเวลาที่เกิดเรื่องเกิดคดีความ ก็จะเหลือเพียงท่านและครอบครัว ที่ยืนหยัดต่อสู้กับความโศกเศร้าและความยากลำบากเพียงลำพัง

สู้ๆ ครับทุกท่าน

อ.วินัย (แจ๊ค) ที่ปรึกษากฎหมาย