หนังสือชี้แจงข้อกล่าวหา (หนังสือ-ต้อง-ห้าม-พลาด)


 ผู้ถูกกล่าวหาหลายท่านอาจสงสัยว่า เหตุใด “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” จึงเป็นหนังสือที่ต้องห้ามพลาด รวมทั้ง ถ้าเกิดการ “พลาด” ในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว จะมีผลอย่างไรนั้น เรามาติดตามดูกันครับ


แต่ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะทราบว่าเหตุใดหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ถึงเป็นหนังสือที่ต้องห้ามพลาด เราต้องทราบก่อนว่าเหตุใดเราจึงต้องทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และคำว่า “ข้อกล่าวหา” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เราต้องทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานี้ เกิดจากสิ่งใด ? ภายใต้ส่วนประกอบและสมการใด  รวมทั้ง ทางออกในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เป็นอย่างไรนั้น ขอเชิญติดตามครับ

สำหรับการอธิบายเรื่องหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวในหน้าเพจนี้ วินัย.คอม ขอยก กฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นกฎสอบสวนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งข้อกล่าวหา และการทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ใกล้เคียงกับกฎหรือระเบียบการสอบสวน / ไต่สวนของ ปปช. และข้าราชการประเภทอื่นๆ  มาเป็นหลักในการอธิบาย

หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา คือหนังสือที่ผู้ถูกกล่าวหาจัดทำขี้น เพื่อการชี้แจงหรือโต้แย้ง  “ข้อกล่าวหา” และพฤติการณ์ประกอบข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ผู้สอบสวน / ไต่สวน ได้รวมรวบ “ข้อเท็จจริง” , “ข้อกฎหมาย” และ “พยานหลักฐาน” มาประมวลผลเป็น “ข้อกล่าวหา”

โดยที่ขั้นตอนการประมวล “ข้อกล่าวหา” ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามกฎ ก.พ.ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556  ข้อ 38 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย  และพยานหลักฐาน  ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 28 (1) แล้วให้มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาทำความเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวนหรือไม่   ถ้าคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวน ให้รายงานผลการสอบสวนพร้อมความเห็นเสนอ  ต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่ถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าจากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานหลักฐานที่รวบรวมได้ เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวน ให้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ ……”

สำหรับการสอบวินัยครู วินัยท้องถิ่น และการไต่สวนของ ปปช. ก็จะมีขั้นตอนการประมวลข้อกล่าวหาที่คล้ายกับหลักเกณฑ์การสอบสวนตามกฎ ก.พ. ข้างต้น ดังปรากฏตามระเบียบการสอบสวน / ไต่สวน ที่ยกมาให้เปรียบเทียบ ท้ายนี้

  • กรณีการสอบวินัยครู กฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณาพ.ศ. 2550 ข้อ 24 ได้กำหนดว่า “… ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร และถ้าเห็นว่ายังฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการตามที่ถูกกล่าวหา ก็ให้มีความเห็นยุติเรื่อง แล้วดำเนินการตามข้อ 38 และข้อ 39 โดยอนุโลม … ถ้าเห็นว่าเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามมาตราใด ก็ให้คณะกรรมการสอบสวนเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา …”
  • กรณีการสอบวินัยท้องถิ่น เช่น ประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาล จังหวัด xx เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย พ.ศ.2558 ข้อ 61 ได้กำหนดว่า “… ให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการประชุมเพื่อพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานใดสนับสนุนข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการใด เมื่อใด อย่างไร และเป็นความผิดวินัยกรณีใด ตามข้อใด …. แล้วให้คณะกรรมการสอบสวนมีหนังสือเรียกผู้ถูกกล่าวหามาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา……”
  • กรณีการไต่สวนของ ปปช. ระเบียบคณะกรรมการ ปปช.ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 72 ได้กำหนดว่า “ในการไต่สวน หากคณะกรรมการ ปปช. หรือคณะกรรมการไต่สวน เห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหาว่ามีมูลความผิดให้กรรมการ ปปช. แจ้งข้อกล่าวหา ให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ”

จากกฎ ระเบียบ การสอบสวน / ไต่สวนข้างต้น  หากจะกล่าวอย่างรวมๆ โดยอิงตามกฎ ก.พ. ซึ่งเป็นกฎขององค์กรกลางด้านการบริหารงานบุคคล ก็อาจกล่าวได้ว่าหลังจากการรวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว  การใช้ดุลยพินิจของผู้สอบสวน ต่อเรื่องกล่าวหาสามารถแบ่งได้ เป็น 2 กรณี ดังนี้

  1. กรณีที่ผู้สอบสวน เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวน ก็ให้รายงานผลการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน
  2. กรณีที่ผู้สอบสวน เห็นว่าข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่สอบสวนได้ เพียงพอที่จะรับฟังว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องที่สอบสวน ก็ให้แจ้งข้อกล่าวหาและสรุปพยานหลักฐานให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาฯจากผู้สอบสวน จึงเป็นกรณีที่ “ข้อกล่าวหา”นั้น มีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐาน เพียงพอที่จะรับฟังว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิดแล้วครับ

โอ – มาย – ก๊อต  สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร เพราะบางครั้งกระบวนการสอบสวน  /  ไต่สวน อาจรับฟังข้อมูลจากพยานฝ่ายเดียว หรือข้อเท็จจริงตามที่สอบสวนได้ยังคงคลาดเคลื่อน เพราะยังมีข้อเท็จจริงอื่นมากกว่าที่สอบสวนได้ ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อผ้าที่ผู้สอบสวน / ไต่สวน ได้ไปพบเห็น หรือที่สอบสวนได้ ซึ่งทางออกที่สำคัญของผู้ถูกกล่าวหา ก็คือการโต้แย้งและชี้แจง “ข้อกล่าวหา”

ส่วนใหญ่แล้ว  ทางออกของการโต้แย้งและชี้แจง “ข้อกล่าวหา” ในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา จะเป็นการนำพยานหลักฐานเข้าหักล้างข้อกล่าวหา หรือการโต้แย้งว่าข้อเท็จจริงตามที่สอบสวน / ไต่สวนได้ยังคงมีความคลาดเคลื่อน พร้อมกับการนำเสนอข้อเท็จจริงของฝ่ายตนเข้าหักล้าง หรือเป็นการเขียนคำบอกกล่าวเพื่อบรรเทาผลร้ายและความเสียหายของทางราชการตามที่ถูกระบุมาในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาฯ  รวมทั้ง อาจเป็นการรวบรวมพฤติการณ์ต่างๆ ในขณะเกิดเหตุ เพื่อต่อสู้ว่ามิได้มีเจตนากระทำผิด  ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ทางคดี  และแนวทางการต่อสู้ที่ผู้ถูกกล่าวหาวางไว้

ส่วนรูปแบบของการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น  ส่วนใหญ่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาจะเลือกการทำเป็น “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” มากกว่าการเข้าพบผู้สอบสวน / ไต่สวน เพื่อให้ถ้อยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อาจเป็นเพราะมันมีความอิสระในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา  โดยไม่ต้องเกรงใจ หรือยึดติดกับกรอบคำถามตามดุลยพินิจของผู้สอบสวน / ไต่สวน ซึ่งจะตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวน เมื่อมีการเผชิญหน้ากัน อีกทั้ง การทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา จะทำให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสปรึกษาผู้ที่ไว้ใจหรือทำการตรวจ / ทาน / แก้ไข หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยตนเองอีกหลายครั้ง เพื่อทบทวนประเด็นข้อต่อสู้ต่างๆ 

เหตุใด “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” จึงเป็นหนังสือที่ต้องห้ามพลาด

เหตุที่ทำให้ “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” เป็นหนังสือที่ต้องห้ามพลาดนั้น นอกจากสาเหตุที่เว็บฯได้เรียนให้ทราบข้างต้นแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาฯ เมื่อนั้น ย่อมเป็นกรณีที่ “ข้อกล่าวหา” มีข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐาน เพียงพอที่จะรับฟังว่าท่านเป็นผู้กระทำผิดแล้ว 

แต่ยังมีสาเหตุต้องห้าม “พลาด” อีกประการหนึ่งของหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ที่เว็บฯอยากเรียนให้ทราบเพิ่มเติมก็คือ ในการสอบวินัยหรือการไต่สวน ที่มีการชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา” ถือเป็นตัวแปรสำคัญต่ออนาคตการงาน และอิสรภาพของผู้ถูกกล่าวหา

เพราะหากเกิดการ “พลาด” ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ในหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ตัวอย่างเช่น

  1. ทำการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา “พลาด” ไม่ตรงประเด็นกล่าวหา เพราะไปมุ่งอธิบายเรื่องการแก้ไขงานหรือการส่งมอบงานที่มีผลสำเร็จแล้วในปัจจุบัน
  2. ทำการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา “พลาด” ไม่ตรงตามองค์ประกอบความผิดในข้อกฎหมาย  เพราะความที่ไม่รู้ ข้อกฎหมาย
  3. ทำการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา “พลาด” เพราะไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุน การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

กรณีดังกล่าว อาจส่งผลให้หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น  ไม่มีประเด็นที่ท่านยกขึ้นต่อสู้ หรือไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง  และนั่นย่อมหมายความว่าบรรดาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและพยานหลักฐานที่ผู้สอบสวน / ไต่สวน เคยแจ้งต่อผู้ถูกกล่าวหามาแล้ว ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาฯ จะมีน้ำหนักรับฟัง ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิดโดยอัตโนมัติ  เพราะไม่มีสิ่งใดไปหักล้าง “ข้อกล่าวหา”

จากนั้น จะส่งผลให้เกิดกระบวนการพิจารณาโทษหรือการดำเนินการอื่นๆ ตามฐานความผิดที่ปรากฎในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาติดตามมา   โดยคดีวินัย ก็จะเป็นหน้าที่หน่วยงานต้นสังกัด เช่น  อกพ. กรม , กศจ. จังหวัดต่างๆ  หรือ  ก.ท้องถิ่นต่างๆ  เป็นผู้พิจารณาสั่งลงโทษ  ส่วนคดีอาญาก็จะมีการส่งตัวผู้ถูกกล่าวหาไปดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้  หลายท่านคงจะถึงบางอ้อแล้วนะครับ  ว่าเหตุใด  “หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา”  จึงเป็นหนังสือ - ต้อง – ห้าม – พลาด

by อ.แจ๊ค วินัย.com

ไม่มีความคิดเห็น: