คำแนะนำการต่อสู้คดีด้วยตนเอง


 ในห้องสอบสวน / ไต่สวนที่มีบรรยายกาศการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่เข้มงวด ผู้ถูกกล่าวหาหลายท่านอาจคิดว่าการรีบลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำที่ผู้สอบสวน / ไต่สวนจัดทำขึ้นหลังสิ้นสุดการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหารู้สึกสบายใจ เพราะจะได้รีบออกไปให้พ้นจากห้องสอบสวน / ไต่สวน โดยเร็วที่สุด


แม้จะรู้สึกสบายใจที่ได้ทำเช่นนั้น แต่การเซ็นชื่อในบันทึกถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหารู้สึกไม่เห็นด้วยกับข้อความหรือเนื้อหาที่ผู้สอบสวน / ไต่สวน จดบันทึกไว้ โดยปราศจากการทักท้วงหรือแก้ไขจากท่าน ความรีบร้อนเช่นนั้น อาจได้มาซึ่งความสบายใจเพียงชั่วครู่ แต่ก็อาจนำมาซึ่งความทุกข์ใจที่ยาวนานกว่าในภายหลัง



ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ท่านต้องทนทุกข์หรือเศร้าใจในภายหลัง ท่านจึงควรอ่านวิธีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในการสอบวินัย / ไต่สวน กรณีที่ท่านถูกเรียกตัวให้มาชี้แจงฯ ด้วยวาจา ทั้งก่อนและหลังการส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ดังนี้
  1. คำพูดหรือการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ที่ผู้ถูกกล่าวหาพูดกับผู้สอบสวน / ไต่สวนนั้น เรียกว่า “คำให้การ” ซึ่งผู้สอบสวน / ไต่สวนจะทำการสรุปย่อ “คำพูด” หรือ “คำให้การ” ของท่านลงในบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา
  2. แม้ข้อความในบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา จะไม่ตรงกับการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา หรือคำพูดของท่านที่พูดออกไปทั้งหมด เพราะเป็นการจดบันทึกฯ แบบสรุปย่อตามคำพูดของท่าน แต่สิ่งที่ท่านต้องทำคือ การตรวจดูบันทึกถ้อยคำนั้น ว่ามีข้อความการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่สำคัญ ตรงกับสิ่งที่ท่านพูดออกไปหรือไม่ หรือเป็นการบันทึกและสรุปย่อตามสิ่งที่ผู้สอบสวนคิด (ซึ่งการสรุปย่ออย่างหลังนี้อันตรายมากครับ หากเป็นการบันทึกและสรุปย่อไว้ เฉพาะสิ่งที่เป็นผลร้ายตามหลักองค์ประกอบความผิด โดยมองข้ามการบันทึกถึงพฤติการณ์ต่างๆ ที่เป็นคุณ ของผู้ถูกกล่าวหา) 
  3. อย่าเกรงใจที่จะแก้ไขคำให้การ หากท่านพบว่ามีข้อความในบันทึกฯ ไม่ตรงกับการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่ท่านพูดไป หรือเป็นสิ่งที่ท่านประสงค์ให้ผู้สอบสวนจดบันทึกไว้ในบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา เพราะข้อความเหล่านี้ คือคำพูดหรือคำให้การของท่านที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดี  ท่านควรร้องขอให้ผู้สอบสวนทำการจดบันทึกข้อความที่ต้องการให้การไว้ โดยเฉพาะถ้อยคำที่เกี่ยวกับพฤติการณ์ต่างๆ ตามหลักองค์ประกอบความผิดในข้อกฎหมาย หรือสิ่งที่เป็นคุณต่างๆ ในการพิจารณาคดี เพราะถ้อยคำในพฤติการณ์บางอย่างอาจมีคุณค่าทางกฎหมาย เพราะเป็นตัวบ่งชี้ “เจตนากระทำ”ของท่าน ที่ผู้สอบสวน ผู้ตรวจสำนวน และ อกพ.กรม , กศจ.หรือ ก.ท้องถิ่นต่างๆ อาจหยิบยก มาประกอบการพิจารณาความผิด และการพิจารณาโทษ
  4. จงกล้าที่จะแก้ไขหรือตัดทอนข้อความในบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา หากท่านเห็นว่ามีข้อความใดไม่ตรงกับการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่ท่านพูด เพราะบางครั้งการสรุปย่อความที่คลาดเคลื่อน อาจเกิดจากทักษะการใช้ภาษาหรือการจดบันทึก ซึ่งกรณีเช่นนี้สำหรับผู้ถูกกล่าวหามือใหม่อาจสังเกตเห็นได้ยาก เพราะความไม่รู้เรื่องเทคนิคการสอบสวน หรือหลักการในเรื่ององค์ประกอบความผิดตามข้อกฎหมาย เว็บวินัยฯ ขอเรียนให้ทราบว่า "องค์ประกอบความผิด" ก็เหมือนสูตรหรือสมการทางคณิตศาสตร์ ที่ผู้สอบสวน/ไต่สวน ต้องยึดถือใช้เป็นสูตรหรือสมการในการค้นหาข้อเท็จจริง และพยานหลักฐาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้น ท่านจงอย่ากังวลใจว่าผู้สอบสวน/ไต่สวน จะปฎิบัติกับท่านอย่างไม่เป็นธรรม เนื่องจากการร้องขอแก้ไขข้อความต่างๆ ในบันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา เพราะหากข้อความตามบันทึกถ้อยคำของท่าน ไม่อยู่ในสูตรหรือสมการที่จะออกผลลัพธ์ว่า “ลงโทษ” ได้   ก็จะไม่มีผู้ใดสามารถใช้ประโยชน์จากบันทึกถ้อยคำฉบับนั้น มาลงโทษท่านได้
  5. จงจำไว้ว่า “บันทึกถ้อยคำผู้ถูกกล่าวหา” เป็นหลักฐานการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในคดีความ  ดังนั้น กระบวนการลงโทษต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงอาจมีผลจากบันทึกถ้อยคำฯ ที่ท่านลงลายมือชื่อรับรองไว้ รวมทั้ง อาจส่งผลต่อการสู้คดีในชั้นศาล หรือชั้นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย  แม้ภายหลังท่านจะโต้แย้งว่าข้อความที่ถูกบันทึกไว้นั้น มีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ตาม แต่คำโต้แย้งเช่นนั้นก็เป็นเรื่องยากที่จะมีน้ำหนักให้ผู้ใดรับฟัง เพราะเหตุที่ขณะท่านลงชื่อในบันทึกถ้อยคำดังกล่าว ท่านมิได้ถูกล่อลวง บังคับหรือขืนใจ ให้ลงชื่อในบันทึกถ้อยคำฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด

Tips 5 วิธีการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

เมื่อใดที่ท่านลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำ เมื่อนั้นย่อมหมายความว่าท่านได้ยอมรับข้อความ และเนื้อหาของการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาทั้งหมดในบันทึกถ้อยคำนั้นว่าเป็นความจริง ดังนั้น ก่อนการลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำทุกครั้งท่านควรตรวจสอบข้อความและเนื้อหาในบันทึกถ้อยคำอย่างละเอียดถี่ถ้วน รวมทั้ง จะต้องระมัดระวังเรื่องการเลือกใช้ “คำ” ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

โดยเฉพาะการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในมูลความผิดอาญา ซึ่งท่านถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผู้สนับสนุน” การกระทำผิดของผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนร่วมงาน ท่านจะต้องเลือกใช้คำในการแก้ข้อกล่าวหาให้ถูกต้อง รวมทั้ง ต้องนำข้อเท็จจริงในส่วนที่เป็นคุณ มาพูดขยายความการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเพื่อให้ผู้สอบสวน ผู้ตรวจสำนวน หรือองค์คณะผู้พิจารณาโทษ ได้เห็นเจตนากระทำที่แท้จริงอย่างชัดเจน จะถือสโลแกน “พูดน้อย ต่อยหนัก” ไม่ได้นะครับ เพราะส่วนใหญ่แล้ว ในการแจ้งข้อกล่าวหาต่างๆ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา มักจะถูกมัดมือชกด้วยพยานเอกสารต่างๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาลงนามไปในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว  

และที่สำคัญ ท่านต้องไม่ลืมว่า "การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา" ไม่ว่าจะเป็นการเข้าชี้แจงฯ ด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ต่างก็เปรียบเสมือนการติดกระดุมเม็ดแรกของการสร้างเรื่องราวและข้อต่อสู้ของท่านให้ปรากฏในสำนวนการสอบสวน/ไต่สวน ฉะนั้น หากท่านติดกระดุมเม็ดแรกผิดพลาด นอกจากจะส่งผลให้ถูกลงโทษทางวินัยในอนาคตอันใกล้แล้ว ยังส่งผลต่อการยื่นอุทธรณ์ขอลดโทษทางวินัย หรือการฟ้องคดีปกครอง และการต่อสู้ในคดีอาญา ในอนาคตที่ไม่ไกลนัก  เพราะจากประสบการณ์ของ วินัย.com พบว่าการตัดสินในชั้นอุทธรณ์ขอลดโทษทางวินัย หรือในชั้นศาลนั้น ส่วนใหญ่ผู้ตัดสินจะใช้ข้อเท็จจริงจากสำนวนการสอบสวน/ไต่สวน เป็นหลักในการพิจารณา ดังนั้น หากท่านติดกระดุมเม็ดแรก ในสำนวนการสอบสวน/ไต่สวนผิดพลาด การจะไปขอติดกระดุมใหม่ สร้างเนื้อผ้าใหม่ ด้วยการนำเสนอข้อเท็จจริงใหม่ ที่อยู่นอกสำนวนการสอบสวน/ไต่สวน เพื่อต่อสู้คดี ในชั้นอุทธรณ์ฯ และชั้นศาล  เพื่อทวงคืนเงินเดือน และตำแหน่งหน้าที่การงาน แม้ในทางเทคนิคกฎหมายอาจทำได้ แต่ขอให้เชื่อ วินัย.com เถอะครับ ว่ามันเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา จึงไม่อยากพาใครทำอีกครับผม



by อ.แจ๊ค วินัย.com

ไม่มีความคิดเห็น: