ส่วนใหญ่ ผู้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย ทั้งที่เป็น ขรก.พลเรือน ตำรวจ ครู ท้องถิ่น เทศบาล อบต. ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ เมื่อได้เซ็นทราบคำสั่งลงโทษทางวินัยแล้ว มักจะใจร้อนอยากยื่นเรื่องอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยในทันที ซึ่ง วินัย.com ขอแนะนำให้ใจเย็นๆ ก่อนครับ เพราะการเขียนคำอุทธรณ์ฯ ไปโต้แย้งกับกลุ่มข้อความที่ระบุในคำสั่งลงโทษ อาจเป็นการอุทธรณ์ฯ ที่ชกไม่ถูกเป้าหมาย (ข้อเท็จจริง) ที่กรรมการสอบสวน / ไต่สวน หยิบยกมาวินิจฉัยความผิด และจะส่งผลให้คำอุทธรณ์ฯ ของท่านไปไม่ถึงดวงดาว ซึ่ง วินัย.com ขอเรียนด้วยความห่วงใยว่าการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัย หรือการทำคำฟ้องทางปกครองนั้น ก็เปรียบเสมือนการปรุงอาหาร ที่ต้องการวัตถุดิบชั้นดี และเครื่องปรุงที่เหมาะสม จึงจะอร่อยถูกใจผู้ชิม ดังนั้น ในการเขียนอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยก็เช่นเดียวกัน ฝ่ายผู้อุทธรณ์ฯ จึงต้องจัดเตรียมเอกสารที่สำคัญ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนโน้มน้าวจิตใจผู้มีอำนาจตัดสินอุทธรณ์ฯ ดังนี้
- เอกสารรายงานการสอบสวน แบบ ดว.6 หรือ รายงานการไต่สวน (กรณีถูกชี้มูล โดย ปปช.หรือ ปปท.) ซึ่งเป็นเอกสารสรุปย่อผลการสอบสวน / ไต่สวนทั้งหมด และถือเป็นเอกสารที่เป็นจุดเริ่มต้นที่ผู้เกี่ยวข้องกับการอุทธรณ์ฯ ทุกฝ่าย จะต้องหยิบมาอ่านเป็นบุ๊คสตาร์ท ( book start ) เพื่อใช้ประกอบการเขียนอุทธรณ์ฯ หรือตัดสินอุทธรณ์ฯ ตัวอย่างเช่น ฝ่ายผู้อุทธรณ์ ก็จะต้องหยิบรายงานสอบสวน / ไต่สวน มาอ่านเป็นบุ๊คสตารท์ เพื่อไล่หาข้อบกพร่องของข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน ที่กรรมการสอบสวน / ไต่สวน นำมาวินิจฉัยความผิด รวมทั้งไล่หาข้อบกพร่องอื่นๆ ในสำนวนคดี และนำมาแตกประเด็นเขียนเป็นคำโต้แย้งลงในหนังสืออุทธรณ์ฯ ส่วนผู้มีอำนาจตัดสินอุทธรณ์ฯ ก็จะต้องหยิบรายงานการสอบสวน / ไต่สวน มาอ่านเป็นบุ๊คสตาร์ท เพื่อดูผลการสอบสวน/ไต่สวน ที่ผ่านมาว่ามีการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่าย อย่างไร เป็นธรรมหรือไม่ รวมทั้ง เพื่อไล่ตรวจดูว่าผู้อุทธรณ์ฯ ได้ทำการโต้แย้งครบถ้วนถูกต้องตามหลักองค์ประกอบความผิดหรือครบประเด็นที่ถูกหยิบยกมาลงโทษหรือไม่ หรือคำอุทธรณ์ฯ นั้น มีสาระสำคัญเพียงพอแก่การลดโทษจากไล่ออก เป็นปลดออก หรือ เพียงพอแก่การเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัย เพื่อให้ผู้อุทธรณ์กลับเข้าทำงานตามเดิมหรือไม่ ส่วนหน่วยงานผู้ออกคำสั่งลงโทษ ก็จะต้องหยิบเอารายงานสอบสวน/ไต่สวน มาอ่านเป็นบุ๊คสตาร์ท เพื่อไล่หาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่างๆ ที่กรรมการสอบสวน / ไต่สวน รวบรวมไว้ในสำนวน เพื่อประกอบการจัดทำคำแก้อุทธรณ์ ในประเด็นต่างๆ ที่ผู้อุทธรณ์ฯ เขียนโต้แย้งไว้ในคำอุทธรณ์
- เอกสารบันทึกมติที่ประชุม อกพ.กรม /จังหวัด/กระทรวง หรือ ก.ท้องถิ่นต่างๆ ในการประชุมครั้งที่มีมติลงโทษผู้อุทธรณ์ โดยเอกสารบันทึกมติที่ประชุมนี้ ส่วนใหญ่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์กับผู้อุทธรณ์ ในเรื่องการไล่สายหาขั้นตอนการประชุมที่ผิดระเบียบ หรือเสียความเป็นกลาง แม้อาจจะพบเห็นข้อบกพร่องในลักษณะเช่นนี้ได้น้อย เพราะส่วนใหญ่มักจะบันทึกมติที่ประชุมอย่างสั้นๆ เพียงว่า "เห็นชอบตามที่ฝ่ายเลขาเสนอ" ซึ่งเป็นข้อความที่แทบจะไม่เกิดประโยชน์อันใดกับผู้อุทธรณ์ฯ แต่ผู้อุทธรณ์ฯ ก็อย่ามองข้ามมติที่ประชุมเหล่านี้ครับ เพราะจากประสบการณ์ของ วินัย.com ได้เคยพบเคสหลุดบางเคส ที่ อกพ. วินิจฉัยข้อกฎหมายผิดพลาดมาแล้ว ซึ่งหากท่านอ่านและพบข้อบกพร่องเช่นนี้ ฝ่ายผู้อุทธรณ์ก็สามารถนำข้อบกพร่องเหล่านั้น มาเขียนเป็นคำโต้แย้งเก็บแต้มสู้กันได้เลย
- เอกสารคำสั่งลงโทษ และ เอกสารบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา โดยเอกสารทั้งสองฉบับนี้ หากอ่านอย่างผ่านๆ ก็มีแต่ข้อความที่เป็นโทษกับผู้อุทธรณ์ แต่หากนำข้อความในคำสั่งลงโทษ มาไล่สาย ค้นหาข้อบกพร่องตามหลักมาตรฐานความเป็นธรรมทางปกครอง ตาม พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ แล้ว ท่านก็อาจนำข้อบกพร่องที่ค้นพบเหล่านั้น มาเขียนเป็นคำโต้แย้งที่เป็นคุณแก่ผู้อุทธรณ์ได้ไม่มากก็น้อย (หมายเหตุ การต้นหาข้อบกพร่องตามหลักมาตรฐานความเป็นธรรมทางปกครองนี้ เป็นงานที่อาศัยประสบการณ์และองค์ความรู้ตามแนวคำพิพากษาศาลปกครอง ดังนั้น ผู้ถูกลงโทษป้ายแดง หากต้องการ ต่อสู้เรื่องมาตรฐานความเป็นธรรมทางปกครองนี้ ต้องไปหาหมอเฉพาะทาง เช่น นิติกรฝ่ายคดีปกครอง หรือ เจ้าหน้าที่วินัย ให้ช่วยอ่านและค้นหาข้อบกพร่อง แต่ วินัย.com ไม่แนะนำให้ผู้ถูกลงโทษป้ายแดง ค้นหาข้อบกพร่องเองนะครับ เพราะจะเสียเวลากับการค้นหาแนวคำพิพากษาศาลปกครองเป็นอย่างมาก ถ้าท่านไม่มีคนรู้จักเป็นนิติกรคดีปกครองจริงๆ ก็ส่งไลน์มาปรึกษากับ วินัย.com ได้ครับ เพราะสำหรับคนที่มีประสบการณ์แล้วจะใช้เวลาอ่านแป๊บเดียว ผมจึงบริการฟรีได้ ถ้าตรวจแล้วไม่มีข้อบกพร่องตามหลักมาตรฐานความเป็นธรรมทางปกครอง ท่านก็จะได้ใช้เวลากับการเขียนข้อต่อสู้เรื่องอื่นๆ ได้เลย
- เอกสารถ้อยคำพยานบุคคล และพยานหลักฐานประกอบในสำนวนคดี (บางหน่วยงานก็ให้ บางหน่วยงานก็ไม่ให้เอกสารเหล่านี้ ทั้งที่ เคยมีคำวินิจให้เปิดเผยได้ ) ดังนั้น หากหน่วยงานของผู้อุทธรณ์ฯ ไม่มอบเอกสารตามข้อ 4 ให้ทันที ท่านก็อย่ารอเอกสารเหล่านี้ ในเบื้องต้นให้ขอเอกสารตามรายการที่ 1 ถึง 3 มาเขียนเป็นคำอุทธรณ์ฯ ก่อน ส่วนเอกสารในข้อ 4 ก็ให้ยื่นเรื่องขอตาม พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ เมื่อได้รับมาแล้วจึงลงรายละเอียดเสริมในคำอุทธรณ์ฯ
- เอกสารสนับสนุนคำอุทธรณ์ฯ ที่ผู้อุทธรณ์ฯ ต้องการอ้างอิงสนับสนุนคำอุทธรณ์ฯ ทั้งนี้ สำหรับผู้อุทธรณ์ที่ถูกลงโทษ ฐานทุจริต ก็ให้หาเอกสารเรื่องแนวทางการวินิจฉัยความผิดฐานทุจริต ของสำนักงาน ก.พ. หรือ สำนักงาน ก.ค.ศ. หรือของ สำนักงาน ก.ท. ที่เวียนแจ้งให้หน่วยงานถือปฏิบัติ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการเขียนคำอุทธรณ์ฯ ด้วย เพราะหนังสือเวียนเหล่านี้ วินัย.com เห็นว่ามีการวางหลักเรื่องการวินิจฉัยความผิดฐานทุจริต ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อุทธรณ์บางท่านที่ไม่มีเจตนาทุจริต แต่ต้องตกกระไดพลอยโจนไปกับกลุ่มทุจริต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น