ผู้ถูกกล่าวหาหลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องการสอบสวน/ไต่สวน ที่สุดท้ายแล้ว “จบไม่สวย” นั่นอาจเป็นเพราะความยุ่งยากในการชี้แจงข้อกล่าวหานั้น นอกจากจะมีเรื่องความไม่รู้วิธีการเขียนหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และการขาดไร้ซึ่งรูปแบบ และตัวอย่างหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแล้ว การรับมือกับ “ข้อกล่าวหา” ที่หนักหน่วงเป็นอีกหนึ่งโจทก์ใหญ่ ที่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องประสบ อีกทั้ง ยังมีปัญหาเรื่องการค้นหา “พยานหลักฐาน” เพื่อนำมา สนับสนุนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เป็นเรือพ่วงติดตามมา ซึ่งแต่ละปัญหาล้วนชวนให้ผู้ถูกกล่าวหา บางท่านถึงกับท้อแท้ และสิ้นหวังต่อการทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานเอกสารเก่าที่ย้อนหลังไปหลายปี

รูปแบบการชี้แจงข้อกล่าวหา
การแก้ข้อกล่าวหาในการสอบสวน / ไต่สวนนั้น ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหา สามารถดำเนินการแก้ข้อกล่าวหา ได้ 2 รูปแบบ ตัวอย่างเช่น- หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
- การให้ถ้อยคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
ชี้แจงข้อกล่าวหา ตัวแปรอนาคตและอิสรภาพ
ที่จริงแล้วทีมงานเว็บวินัยฯ คุยกันมาเยอะตอนทำเนื้อหาเรื่องการสอบสวนวินัยร้ายแรง และการไต่สวนที่มีการชี้มูลความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญาในเพจการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ว่า ไม่อยากเล่าเรื่องหรือยกตัวอย่างการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาอย่างคนโลกสวย เพราะปลายทางของกระบวนการสอบสวน/ไต่สวน ไม่ได้มีแต่เรื่องเชิงบวก ผู้ถูกกล่าวหาที่ผิดหวัง อาจมีภาระเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษวินัย หรือการต่อสู้คดีอาญาติดตามมาภายหลัง แต่สุดท้ายแล้วภาพที่ทีมงานคิดว่าใครๆอยากเห็น ก็คงหนีไม่พ้นภาพแห่งชัยชนะในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งก็คือ “การยุติเรื่อง” หรือการได้รับคำวินิจฉัยให้ข้อกล่าวหาตกไปดังนั้น ทีมงานเว็บวินัยฯ จึงได้คิดจัดทำบทความต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ในกระบวนการสอบสวน/ไต่สวน เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกท่านได้ศึกษา และใช้เป็นแนวทางในการต่อสู้คดี ช่วยตนเองให้พ้นจากความรับผิดได้อย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพต่อไป

เทคนิค "ชี้แจงข้อกล่าวหา"
การชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาในทางกฎหมายนั้น ผู้ถูกกล่าวหาจำต้องมีเทคนิคในการแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งเทคนิคสำคัญของการชี้แจงข้อกล่าวหาที่จะกล่าวไว้เบื้องต้นในหน้าเพจนี้ คือ การจับกลุ่มข้อความตามการบรรยายข้อกล่าวหา ของผู้สอบสวน/ไต่สวน และนำมาถอดแยกตามองค์ประกอบความผิด ในฐานผิดต่างๆ ตัวอย่าง เช่น- ฐานความผิดทางวินัย ตามประเภทข้าราชการ เช่น พรบ.ขรก.พลเรือน พรบ. ขรก.ครู หรือ ขรก.ท้องถิ่น
- ฐานความผิดทางอาญา หมวดความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (มาตรา 147 – 166)
- ฐานความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
และนอกจากเทคนิคการชี้แจงข้อกล่าวหาข้างต้นแล้ว กระบวนการแก้ข้อกล่าวหายังมีเทคนิคที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือการนำข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ซึ่งผ่านการเก็บข้อมูลและการค้นหาพยานหลักฐานจนได้ข้อยุติแล้ว มาปรับกับองค์ประกอบความผิดตามข้อกฎหมาย และใช้เป็นข้อมูลหรือวัตถุดิบในการเขียนแก้ข้อกล่าวหา เพราะการส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ด้วยคำอธิบายที่สั้น และขาดเหตุผล รวมทั้ง ไร้ซึ่งพยานหลักฐานที่ใช้สนับสนุนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา มันอาจจะเกิดผลร้ายต่อรูปคดีของผู้ถูกกล่าวหาในชั้นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษหรือชั้นศาล
ท้ายเพจ “ชี้แจงข้อกล่าวหา”
หากเปรียบเปรยว่า การลงทุนเก็บพยานหลักฐานเพื่อประกอบการชี้แจงข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน / ไต่สวนนั้น เปรียบเสมือนการยิงปืนนัดเดียวได้นกสี่ตัว ก็คงจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดไปจากข้อความท้ายนี้เท่าใดนักเพราะว่ากระบวนการทางวินัยตั้งแต่ต้นจนจบ ต่างใช้การพิจารณาในระบบไต่สวนเช่นเดียวกัน กล่าวคือ
- การพิจารณาชั้นสอบวินัย / ชั้นไต่สวนชี้มูลความผิด -> ใช้ระบบไต่สวน
- การพิจารณาชั้นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษ –> ใช้ระบบไต่สวน
- การพิจารณาชั้นศาลปกครอง –> ใช้ระบบไต่สวน
- การพิจารณาชั้นศาลคดีทุจริตฯ –> ใช้ระบบไต่สวน