
การชี้แจงข้อกล่าวหา “สอบละเมิด”หรือ “ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่” ส่วนใหญ่จะเป็นการโต้แย้งและการให้เหตุผลเปรียบเทียบระหว่างหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายกับวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิดในขณะเกิดเหตุละเมิด หากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา มีเหตุผลที่เพียงพอ และมีน้ำหนักที่จะยกขึ้นอ้างในการแก้ข้อกล่าวหา ผู้ถูกสอบละเมิดก็สามารถหลุดพ้นจากความรับผิดทางละเมิดได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจในหลักกฎหมายและการแสวงหาข้อเท็จจริงที่ผู้ถูกกล่าวหาจะนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนเป็นสำคัญ และข้อควรระวังอีกอย่างของการชี้แจงข้อกล่าวหา “สอบละเมิด” คือความรอบคอบในการจัดทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เนื่องจากการสอบละเมิดจะมีสภาพบังคับในเรื่องค่าสินไหมทดแทน ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิดบางท่านมองว่าเป็นเพียงเรื่องทางแพ่ง จึงขาดความละเอียดรอบคอบในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เพราะคาดไม่ถึงว่าจะมีความรับผิดอย่างอื่นติดตามมา ดังนั้น ในการชี้แจงข้อกล่าวหาเรื่องความรับผิดทางละเมิดที่ดี นอกจากเจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิดจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระเบียบกฏหมายที่ถูกกล่าวหาว่าทำละเมิดแล้ว หากพอมีเวลาเหลือเจ้าหน้าที่ผู้ถูกสอบละเมิดควรหาความรู้เสริม ทั้งทางด้านวินัย และอาญา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา เพื่อจักได้ปรับปรุงร่างหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น ให้มีประโยชน์ต่อรูปคดีสำหรับตนเองทั้งในทางแพ่ง วินัย และอาญา
ที่สำคัญอย่าลืมว่าก่อนจะลงมือเขียนชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคราวใด ขอให้ท่านตรวจสอบลักษณะงานของตนเองว่ามีหน้าที่ราชการหรือได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่ถูกกล่าวหาอย่างไร และหน้าที่นั้นมีขอบเขตหรือขั้นตอนในการปฏิบัติงานอย่างไร มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของงานอย่างไร เพราะข้อกล่าวหาบางเรื่อง อาจมีข้อต่อสู้เรื่องขอบเขตหรือขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เป็นข้อได้เปรียบทางคดีแฝงอยู่ หากท่านวิเคราะห์เนื้องานพบ และนำมาโต้แย้งว่าความเสียหายนั้น ยังมิได้เข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติงานของท่าน ก็จะมีส่วนช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้หนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยไม่ต้องไปกังวลกับการหาเหตุผลมาร้อยเรียงว่าการกระทำของท่านไม่ถึงขั้น “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” เพราะเมื่อใดก็ตามที่ท่านต้องเขียนคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหายืดยาวไปถึงขั้นนั้น ก็ถือว่าเข้าสู่สภาวะเสี่ยงของสตางค์ในกระเป๋าแล้ว มิฉะนั้นคงไม่มีผู้กล่าวให้เราได้ยินกันบ่อยๆดอกครับว่า “ ของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ”
